Customers Also Purchased
ถุงมือช่าง ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ช่างทุกคนควรมี ไม่ว่าจะเป็นช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างไม้ ช่างเชื่อม หรือช่างทั่วไป เพราะมือของเรานี่แหละคือด่านแรกที่ต้องสัมผัสกับความเสี่ยงแบบตรง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความร้อน เศษโลหะมีคม หรือแม้แต่น้ำมันเครื่อง หลายคนอาจคิดว่าแค่มีถุงมือใส่ก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงคือ ถ้าเลือกผิดประเภท ไม่ใช่แค่ไม่ช่วยป้องกันนะครับ แต่ยังอาจทำให้เสี่ยงกว่าเดิม เช่น ลื่น จับของไม่ถนัด หรือหนักกว่านั้นคืออาจถึงขั้นบาดเจ็บได้เลย
ในบทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ ถุงมือช่าง แต่ละประเภทแบบเข้าใจง่ายๆ ว่าใช้กับงานไหนถึงจะเวิร์ก และถ้าเผลอใช้ผิดจะเกิดอะไรขึ้น พร้อมเคล็ดลับการเลือกถุงมือให้เหมาะกับงานของคุณแบบช่างมืออาชีพ!
ถุงมือช่าง คืออะไรและมีหน้าที่อะไร?
ถุงมือช่าง ก็เหมือนเกราะป้องกันมือของเรานั่นแหละครับ ถือเป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยให้มือเราไม่ต้องเสี่ยงกับอันตรายต่าง ๆ ที่เจอในงาน
- ความร้อน – อย่างเวลาทำงานกับเหล็กที่เพิ่งเชื่อมหรือออกจากเตา
- ความเย็น – งานที่ต้องอยู่ในห้องเย็น หรือเจอกับความเย็นจัดบ่อย ๆ
- สารเคมี – เช่น น้ำยาล้างกรด น้ำมัน หรือของเหลวที่กัดมือได้
- ไฟฟ้า – งานเดินสายไฟ ต่อวงจร ที่ต้องการถุงมือเฉพาะเพื่อป้องกันไฟดูด
- การบาด เจาะ ทิ่มทะลุ – อย่างการตัดเหล็ก เลื่อยไม้ หรือจับชิ้นงานมีคม
- แรงกระแทก – งานที่มีโอกาสโดนของแข็งตกใส่มือ หรือเครื่องมือหนักหล่นกระแทก
ช่วยให้จับเครื่องมือได้ถนัดขึ้น
ถุงมือช่าง บางประเภทเขาไม่ได้แค่ใส่ไว้เฉยๆ นะครับ แต่มีการเสริมพื้นผิวพิเศษไว้ เช่น เคลือบ PU หรือยางลาเท็กซ์ เพื่อให้เวลาจับไขควง ประแจ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ มือจะไม่ลื่นหลุดง่าย ๆ ช่วยให้จับเครื่องมือได้มั่นใจขึ้น แถมยังลดโอกาสที่ของจะหล่นใส่เท้าหรือชิ้นงานเสียหายอีกด้วย

ถุงมือช่าง มีกี่ประเภท และเหมาะกับงานแบบไหน?
ถุงมือช่าง ทั่วไป
บางครั้งเรียกว่า "ถุงมือเอนกประสงค์" ก็เพราะมันใช้งานได้หลากหลายครับ เหมาะกับงานเบา ๆ อย่างเช่น งานบำรุงรักษาทั่วไป งานประกอบชิ้นส่วน หรือแม้แต่งานแพ็คของในโกดัง ถุงมือพวกนี้ใส่สบาย คล่องตัว ไม่อึดอัด มีวัสดุให้เลือกหลายแบบ เช่น ผ้าเคลือบยาง PU ที่ช่วยให้จับของไม่ลื่น หรือยางลาเท็กซ์ที่ใส่แล้วแนบมือ ใช้งานสะดวก เหมาะกับงานที่ไม่ต้องเจอของมีคมหนัก ๆ
ถุงมือช่าง กันบาด (Cut Resistant Glove)
เหมาะกับงานที่ต้องจับหรือสัมผัสกับของมีคมอยู่บ่อย ๆ เช่น มีด ใบเลื่อย หรือเศษโลหะที่แค่โดนนิดเดียวก็เป็นแผลได้ ถุงมือแบบนี้เขาออกแบบมาให้ทนการบาดได้ดีมากครับ โดยมักทำจากวัสดุแข็งแรงพิเศษ เช่น HPPE, ไฟเบอร์กลาส หรือเคฟลาร์ ใครที่ต้องทำงานกับชิ้นงานมีคมบ่อย ๆ ถุงมือนี้คือเพื่อนคู่ใจเลย
ถุงมือช่าง กันกระแทก (Impact Resistant Glove)
ถุงมือแบบนี้มักจะเห็นในงานช่างเครื่องยนต์หรืองานก่อสร้างครับ เพราะต้องเจอกับของหนัก ๆ อยู่ตลอด ตัวถุงมือจะมีแผ่นกันกระแทกที่ติดอยู่ตรงข้อนิ้วและหลังมือ เวลาโดนค้อนเหวี่ยงพลาด เครื่องมือหล่น หรือของหล่นใส่ก็ช่วยซับแรงกระแทกได้เยอะ ลดโอกาสเจ็บมือแบบไม่ตั้งใจ เหมาะกับช่างสายลุยที่ต้องทำงานกับเครื่องมือหนัก ๆ ทุกวัน
ถุงมือช่าง กันความร้อน
ถุงมือแบบนี้เหมาะกับงานที่ต้องเจอกับไฟหรือความร้อนจัด ๆ อย่างงานเชื่อม งานหล่อโลหะ หรืองานที่ต้องอยู่ใกล้เตาใกล้เปลวไฟ ถ้าใช้ถุงมือทั่วไปนี่ละลายติดมือเอาได้เลยครับ เพราะฉะนั้นต้องเลือกถุงมือที่มีชั้นกันความร้อนโดยเฉพาะ มักทำจากหนังแท้หรือวัสดุที่ไม่ติดไฟ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มือเราจะไม่โดนลวกหรือไหม้เวลาทำงานหนักๆ แบบนี้
ถุงมือช่าง กันไฟฟ้า (Electrical Glove)
สำหรับช่างไฟฟ้านี่ถือว่าห้ามพลาดเลยครับ เพราะงานเกี่ยวกับไฟมันไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ถ้าเลือกถุงมือผิด ชีวิตอาจเปลี่ยนได้เลยนะ ถุงมือที่ใช้ต้องเป็นแบบเฉพาะทาง และต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยสากล เช่น ASTM หรือ IEC ถึงจะมั่นใจได้ว่า ถ้าเผลอไปโดนสายไฟหรือวงจรที่มีไฟจริง ๆ มันจะช่วยป้องกันไฟดูดได้จริง ไม่ใช่แค่กันฝุ่นกันรอย
ถุงมือช่าง กันสารเคมี
ถุงมือแบบนี้เหมาะกับงานที่ต้องเจอกับของเหลวที่แค่หยดเดียวก็ทำเอามือพังได้เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นกรดแรง ๆ ด่างเข้ม ๆ หรือน้ำมันเครื่อง ถ้าใช้ถุงมือผิดประเภท งานเข้าแน่นอน ถุงมือที่ใช้กับสารเคมีเหล่านี้จะต้องทำจากวัสดุอย่างยางไนไตรล์ PVC หรือบิวทิล เพราะพวกนี้เขาทนต่อการกัดกร่อนได้ดี ใครทำงานสายนี้ควรมีติดตัวไว้เสมอครับ

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ ถุงมือช่าง ผิดประเภท
ถุงมือช่าง กันบาดที่ไม่กันความร้อน มือพองจากงานเชื่อม
บางคนเข้าใจว่าแค่ใส่ถุงมือกันบาดก็ปลอดภัยแล้ว เลยหยิบไปใช้เชื่อมเหล็กซะเลย เพราะคิดว่าแค่ไม่โดนของมีคมก็โอเค แต่ลืมคิดถึงความร้อนจากงานเชื่อมครับ สุดท้ายถุงมือที่ไม่ทนความร้อนก็ละลายติดมือล่ะสิ! กลายเป็นงานเจ็บตัวแทนงานที่ควรจะปลอดภัย เพราะงั้นอย่าคิดว่าใส่ถุงมืออะไรก็ได้ ขอแค่มี ถ้าไม่เหมาะกับงานจริง ๆ มันอาจกลายเป็นภัยใกล้ตัวแบบไม่รู้ตัว
ถุงมือยางทั่วไปใช้กับงานไฟฟ้า เสี่ยงไฟดูด
ยางธรรมดาอาจกันน้ำได้ก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าจะกันไฟฟ้าได้ครับ หลายคนเผลอหยิบถุงมือยางแบบที่ใช้ล้างจานมาใส่งานไฟฟ้า คิดว่าโอเค สุดท้ายเสี่ยงไฟดูดเต็ม ๆ ถ้าถุงมือไม่มีมาตรฐานรองรับอย่างที่ควร การใช้งานผิดประเภทกับงานไฟฟ้านี่อันตรายสุด ๆ เลยนะครับ อย่าประมาทเด็ดขาด!
ถุงมือช่าง หนาเกินไปกับงานละเอียด ทำให้จับเครื่องมือไม่แม่นยำ
อย่างเวลาที่เราต้องขันน็อตเล็ก ๆ หรือประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ งานพวกนี้ต้องใช้ความแม่นยำสูงมาก ถ้าถุงมือที่ใส่มันหนาไป มือเราจะเคลื่อนไหวลำบาก รู้สึกเทอะทะ จับอะไรไม่ถนัด แล้วก็อาจพลาดได้ง่าย ๆ เลยครับ เหมือนจับไขควงแล้วมือแข็งทื่อ ยังไงยังงั้น
ถุงมือไม่กันน้ำมัน ลื่นมือ เครื่องมือหล่นใส่ตัว
เวลาซ่อมเครื่องยนต์ ใครเคยเจอน้ำมันเลอะมือจนจับอะไรไม่อยู่บ้าง? แบบนั้นแหละคือเหตุผลที่เราต้องใช้ถุงมือที่กันน้ำมันและมีผิวกันลื่น เพราะถ้ามือมันลื่น เครื่องมืออาจหลุดมือได้ง่าย ๆ แล้วถ้าโชคร้ายหล่นใส่ตัวหรือเท้าก็เจ็บฟรีอีกต่างหาก ดังนั้นเลือกถุงมือให้เหมาะกับสภาพงานไว้ก่อน ดีกว่ามานั่งเสียใจทีหลังครับ
วิธีเลือก ถุงมือช่าง ให้เหมาะกับงาน
เริ่มจากดูประเภทของงาน
อย่างถ้างานที่ต้องเจอกับไฟหรือเหล็กร้อน ๆ อย่างงานเชื่อม ถุงมือที่ใช้ก็ต้องเป็นแบบกันความร้อนโดยเฉพาะ ไม่ใช่หยิบถุงมือผ้ามาใส่แล้วหวังว่าจะเอาอยู่ เพราะถ้าพลาดขึ้นมา แทนที่จะป้องกัน กลับทำให้เจ็บตัวซะเอง
ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย
ถุงมือที่ดีไม่ใช่แค่ใส่แล้วดูเท่ครับ แต่ควรผ่านมาตรฐานที่เชื่อถือได้ด้วย อย่าง EN388 สำหรับกันบาด, ASTM สำหรับงานไฟฟ้า หรือ EN407 สำหรับกันความร้อน พูดง่าย ๆ คือ ถ้ามีสัญลักษณ์พวกนี้อยู่บนแพ็กเกจ เราก็อุ่นใจได้ว่าเขาผ่านการทดสอบมาแล้ว ไม่ใช่แค่เอามาใส่กันรอยเฉย ๆ
ขนาดต้องพอดีมือ
ถุงมือที่ใหญ่เกินไปก็เหมือนใส่เสื้อเบอร์ XL ทั้งที่ตัวเองใส่ M ครับ หลวม ใส่แล้วหลุดง่าย พอหยิบจับอะไรก็ไม่ถนัด ส่วนถ้าเล็กเกินไปก็เหมือนใส่ถุงมือเด็ก แน่นจนมือบวม เลือดไม่เดิน อึดอัดไปหมด แล้วแบบนี้จะทำงานได้คล่องได้ยังไงใช่ไหมครับ เพราะงั้นขนาดต้องพอดีมือ ใส่แล้วกระชับแต่ยังขยับนิ้วได้คล่อง ๆ ถึงจะเวิร์ก
เลือกวัสดุให้เหมาะกับความเสี่ยง
- งานมีดบาด ถ้าเจองานที่ต้องใช้มีด ตัดโลหะ หรือจับของมีคมบ่อย ๆ ต้องเลือกถุงมือที่ทำจาก HPPE หรือเคฟลาร์ครับ พวกนี้ทนคมได้ดี ไม่ขาดง่ายแน่นอน
- งานน้ำมัน ถ้างานคุณต้องจับเครื่องยนต์หรือชิ้นส่วนที่เปื้อนน้ำมันบ่อย ๆ แนะนำเป็นถุงมือไนไตรล์ เพราะไม่ลื่น ไม่อุ้มน้ำมัน และยังช่วยให้จับเครื่องมือได้มั่นใจขึ้นเยอะ
- งานไฟฟ้า ถ้างานเกี่ยวกับสายไฟ หรือมีโอกาสโดนไฟฟ้า ต้องใช้ถุงมือยางชนิดพิเศษที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยนะครับ ไม่งั้นเสี่ยงไฟดูดได้ง่าย ๆเลย
พิจารณาความทนทานและความคุ้มค่า
ไม่จำเป็นต้องซื้อถุงมือที่แพงสุดในร้านก็ได้นะครับ เพราะของดีไม่ได้แปลว่าต้องแพงเสมอไป ลองมองหารุ่นที่ใช้ซ้ำได้หลายรอบ ไม่ขาดง่าย มีอายุการใช้งานนานหน่อย แบบนี้คุ้มกว่าเยอะ ใช้งานได้จริงแถมประหยัดเงินในระยะยาวอีกด้วย
ถุงมือช่าง ราคาถูก ไม่ปลอดภัยเสมอไปจริงหรือ?
อย่าเพิ่งมองว่าของถูกจะไม่ดีเสมอไปนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้มีหลายแบรนด์ที่ทำถุงมือราคาสบายกระเป๋า แต่คุณภาพจัดว่าดีเลยทีเดียว ถ้าเราเลือกให้เหมาะกับประเภทงาน และเช็กคุณสมบัติก่อนซื้อดี ๆ คุณอาจจะได้ของดีในราคาที่ไม่ต้องจ่ายแพงเกินไป แถมยังปลอดภัยครบถ้วนอีกด้วย
> ถุงมือช่าง ดีๆ ไม่ใช่แค่ซื้อแพงแต่ต้องเลือกให้ถูกงาน