Customers Also Purchased
ลวดเชื่อม คืออุปกรณ์ที่แม้ดูเหมือนจะเล็ก และธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด การทำให้ชิ้นงานสองชิ้นติดกันอย่างมั่นคงไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ฝีมือของช่างเชื่อมเท่านั้น แต่ยังต้องพึ่งพาคุณสมบัติของลวดเชื่อมด้วย เช่น ความสามารถในการหลอมติดโลหะ ความแข็งแรงหลังการเชื่อม รวมถึงความเข้ากันได้กับเครื่องมือ และวัสดุที่ใช้งานร่วมกันด้วย
ในบทความนี้ ผมเลยจะมาชวนคุยแบบตรง ๆ เคลียร์ ๆ กันไปเลยครับว่า ลวดเชื่อม จริง ๆ แล้วมันเป็นยังไงกันแน่ มีอะไรที่หลายคนยังเข้าใจผิด? แล้วการเข้าใจผิดแบบนี้มีผลกับการใช้งานมากแค่ไหน? มาดูทีละข้อกันเลยครับ
1. ลวดเชื่อมทุกชนิดใช้ได้กับทุกเครื่อง
เคยไหมครับ? ไปซื้อเครื่องเชื่อมมา แล้วเจอพนักงานบอกว่า "ใช้ลวดเชื่อมทั่วไปได้เลยครับพี่" แล้วก็หยิบลวด E6013 มาให้ แน่นอนครับว่าลวดแบบนี้ใช้กับตู้เชื่อมทั่วไปได้จริง แต่ "ทั่วไป" ของเขากับ "ทั่วไป" ของเราบางทีก็ไม่เหมือนกัน
คำว่าลวดทั่วไป สำหรับบางคนอาจหมายถึงลวดที่หาซื้อง่าย ราคาถูก และใช้ได้กับงานหลายประเภท แต่จริง ๆ แล้ว ลวดเชื่อมแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ที่อาจไม่ได้เข้ากันกับตู้เชื่อมทุกประเภท
ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจหยิบลวดเชื่อมมาใช้งาน ลองถามตัวเองก่อนครับ ว่าเครื่องเชื่อมของเราเป็นแบบไหน? ใช้กับไฟบ้าน หรือไฟสามเฟส? แล้วงานที่เราจะเชื่อมเป็นเหล็กประเภทใด? เพราะถ้าเลือกไม่ตรง ลวดอาจติดยาก แนวเชื่อมไม่สวย หรือแย่กว่านั้นคืองานเชื่อมพังเร็ว ทั้งที่ตั้งใจทำสุดฝีมือแล้ว
แล้วลวดเชื่อมมันมีแบบไหนบ้างกันแน่?
ก่อนจะเลือกใช้งานลวดเชื่อมให้ถูกประเภท เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่าในตลาดมีลวดเชื่อมแบบไหนบ้าง แตกต่างกันยังไง เพราะหากเลือกผิดตั้งแต่ต้น ต่อให้ฝีมือเชื่อมดีแค่ไหน งานก็ออกมาไม่สมบูรณ์อยู่ดี
- ลวดเชื่อมไฟฟ้าหุ้มฟลักซ์ (Stick Welding) ใช้กับเครื่อง MMA
- ลวดเชื่อม MIG เป็นลวดเปลือย ใช้กับตู้เชื่อม MIG มีระบบป้อนลวดอัตโนมัติ และแก๊ส Co2 ปกคลุม
- ลวดเชื่อม TIG เป็นลวดทึบ ใช้คู่กับเครื่องเชื่อม TIG ต้องมีลวดเติมแยกกับ Electrode ใช้การควบคุมด้วยมือ และแก๊สเฉื่อย (เช่น Argon)
ลวดเชื่อมไม่ใช่ของอเนกประสงค์
เพราะลวดแต่ละแบบออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับเครื่องเชื่อม และวัสดุเฉพาะเจาะจง หากนำมาใช้ผิดประเภท อาจเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น เชื่อมไม่ติด แนวเชื่อมเปราะ หรือแนวเชื่อมเกิดรูพรุนโดยไม่รู้ตัว
2. ยิ่งแรงดันไฟสูง ลวดเชื่อมยิ่งทำงานดี
หลายคนเข้าใจว่า ต้องเร่งแรงดันไฟไว้สูง ๆ ไว้ก่อน เพราะ "เชื่อมแล้วไฟแรง ลวดไหลดี" จริงไหมครับ?
ความเชื่อนี้มาจากประสบการณ์ที่เวลาไฟแรง ลวดเหมือนจะไหลลื่น เชื่อมเร็วขึ้น และดูเหมือนว่างานจะเดินไวกว่า แต่จริง ๆ แล้ว แรงดันไฟที่สูงเกินจำเป็นอาจทำให้งานเสียมากกว่าดี ยิ่งกับผู้ที่ยังควบคุมแนวเชื่อมไม่ชำนาญ การตั้งไฟสูงเกินไปจะทำให้ควบคุมลวดยาก แนวเชื่อมทะลุ หรือไหม้ทะลุแผ่นเหล็กง่าย และเสี่ยงต่อการเกิดรูพรุน หรือสะเก็ดกระเด็นมากเกินไป มีโอกาสเกิดความเสียหายกับทั้งเครื่อง และชิ้นงาน
จริงแค่บางส่วน และอันตรายด้วย!
การตั้งแรงดันไฟให้สูงเกินไปมีผลเสียมากกว่าที่คิด และอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของแนวเชื่อม อายุของเครื่อง หรือต้นทุนของวัสดุที่สูญเปล่า การควบคุมไฟให้อยู่ในระดับที่พอดีจะช่วยให้ลวดละลายได้อย่างเหมาะสม แนวเชื่อมเรียบสม่ำเสมอ และลดข้อผิดพลาดในงาน
ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับช่างมือใหม่ที่ยังไม่ชินกับการควบคุมจังหวะ และองศาไฟ การเร่งแรงดันสูงเกินไปจะยิ่งทำให้ฝึกยากขึ้น เพราะต้องจัดการกับลวดที่ละลายเร็ว การตั้งไฟให้เหมาะจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การฝึกทักษะเชื่อม
- ทำให้แนวเชื่อมไหม้ ลวดละลายเร็วเกิน จนควบคุมไม่ได้
- เกิดสะเก็ดเชื่อมเยอะ เปลืองลวด และเสียงาน
- เครื่องเชื่อมร้อนเร็วขึ้น อายุการใช้งานลดลง
แล้วจะตั้งแรงดันยังไงดี?
ให้ดูที่ขนาดของลวดเชื่อมเป็นหลัก เช่น
- ลวด 2.6 mm ใช้ประมาณ 60–90 แอมป์
- ลวด 3.2 mm ใช้ประมาณ 90–130 แอมป์
อย่าลืมว่าเครื่องเชื่อม และตู้เชื่อม แต่ละรุ่น อาจให้ผลไม่เหมือนกัน แนะนำให้ลองเทสก่อน แล้วปรับตามความเหมาะสม หรืออ้างอิงตามคำแนะนำที่ระบุไว้กับตู้เชื่อมนั้น ๆ
3. ลวดเชื่อม เก็บไว้นานเท่าไหร่ก็ใช้ได้ ไม่มีวันหมดอายุ
หลายคนเก็บลวดเชื่อมไว้เป็นปี ๆ แล้วหยิบมาใช้ตามสบาย เพราะคิดว่า "ของแข็งแบบนี้ ไม่เสียหรอก" ความคิดนี้อาจฟังดูมีเหตุผลในแวบแรกครับ เพราะลวดเชื่อมดูแล้วเหมือนไม่มีอะไรเสียหายได้ง่าย ๆ แต่ ลวดเชื่อม โดยเฉพาะลวดหุ้มฟลักซ์ มีความไวต่อความชื้นสูงมาก การเก็บไว้นานโดยไม่ปิดผนึกอย่างเหมาะสมอาจทำให้คุณสมบัติในการเชื่อมลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น แนวเชื่อมเกิดรูพรุน เชื่อมไม่ติด หรือเกิดการแตกร้าวหลังจากเชื่อมเสร็จ
ความชื้นที่สะสมอยู่ในฟลักซ์ของลวดเชื่อมยังอาจทำให้เกิดไฮโดรเจนซึมเข้าไปในเนื้อเชื่อม ส่งผลให้งานเชื่อมเปราะหักง่ายในระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก ยิ่งในงานที่ต้องรับแรงมาก หรือใช้งานในโครงสร้างที่ความปลอดภัยเป็นเดิมพัน
ความจริงคือลวดเชื่อมมีอายุใช้งาน
ลวดหุ้มฟลักซ์ หากโดนความชื้น สารเคลือบที่อยู่รอบลวดจะเริ่มดูดซับน้ำ และเสื่อมสภาพ เมื่อใช้งานในสภาพที่ชื้น หรือไม่มีการอบก่อนเชื่อม จะทำให้เกิดปัญหาในแนวเชื่อม เช่น การเกิดรูพรุนภายใน การระเบิดเล็ก ๆ ขณะเชื่อม หรือการที่แนวเชื่อมไม่ติดแน่นกับชิ้นงาน
แล้วจะเก็บลวดเชื่อมยังไงให้ใช้ได้นาน?
- เก็บในที่แห้ง ไม่โดนแดด ไม่โดนน้ำ
- หากเปิดกล่อง แล้วไม่ได้ใช้หมด ควรเก็บใส่ถัง หรือกล่องสูญญากาศ
- ลวดบางชนิดเช่น E7018 แนะนำให้อบก่อนใช้งานด้วยนะครับ
อย่าเสียดายลวดเก่า ถ้ามันทำให้งานพัง เสียเวลากว่าเยอะ
4. ใช้ลวดเชื่อมยี่ห้อไหนก็เหมือนกันหมด
บางคนเน้นของถูกสุดไว้ก่อน ขอแค่เป็นเบอร์เดียวกันก็พอใจแล้ว ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างด้านคุณภาพของวัสดุ และการผลิตของละยี่ห้อ ซึ่งแม้จะมีเบอร์เดียวกัน ความสม่ำเสมอในการหลอม ความสะอาดของแนวเชื่อม และความทนทานหลังการเชื่อมอาจต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
คุณภาพลวดไม่ได้วัดแค่เลขเบอร์
แม้จะเป็นลวดเชื่อมเบอร์เดียวกัน สิ่งที่แตกต่างกันคือมาตรฐานการผลิต ส่วนประกอบของฟลักซ์ และคุณสมบัติของไส้ลวด ทั้งหมดนี้มีผลต่อความสะอาดของแนวเชื่อม ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง และความลื่นไหลในการเชื่อม
ช่างเชื่อมที่มีประสบการณ์จะรู้ทันทีเมื่อลวดไม่ได้คุณภาพ เพราะแนวเชื่อมจะไม่เรียบ หรือสะเก็ดเยอะเกินจนเสียเวลาเก็บงาน บางครั้งถึงขั้นต้องเลาะแนวเชื่อมออกมาใหม่ ซึ่งเสียทั้งเวลา และต้นทุน
- ลวดเชื่อมคุณภาพดีจะให้แนวเชื่อมที่เรียบ สม่ำเสมอ
- สะเก็ดน้อย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเจียรออก
- ลวดถูกเกินไปอาจมีปัญหา เช่น ไส้ในไม่สม่ำเสมอ ฟลักซ์หลุดง่าย
คำแนะนำสไตล์ช่าง
ถ้าทำงานชิ้นสำคัญ หรืองานที่ต้องโชว์แนวเชื่อม เลือกลวดเชื่อมยี่ห้อที่ไว้ใจได้จะดีกว่า อย่าเสี่ยงกับลวดราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะนอกจากจะเสียเวลาในการเก็บงานแล้ว ยังเสี่ยงที่จะได้แนวเชื่อมที่ไม่แข็งแรง หรือมีตำหนิที่มองเห็นชัดเจน เช่น รูพรุน สะเก็ด หรือแนวไม่สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ลวดคุณภาพดีมักจะมีการควบคุมมาตรฐานการผลิตที่สม่ำเสมอ ทำให้เชื่อมง่าย ลวดละลายได้อย่างต่อเนื่อง และลดปัญหาที่ต้องคอยแก้ไขระหว่างเชื่อม ซึ่งจ่ายแพงกว่าเล็กน้อย แต่ก็คุ้มค่ากว่าทั้งในแง่ผลลัพธ์ และความน่าเชื่อถือของงานเชื่อมโดยรวมครับ
5. ใช้ลวดเชื่อมยังไงก็ได้ ขอให้ติดก็พอ
ความคิดนี้อันตรายมากครับ เพราะการเชื่อมนั้นไม่ได้แค่เชื่อมให้ ติดกัน แต่มันต้องรับแรง รับน้ำหนัก และใช้งานจริงในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การสั่นสะเทือน ความร้อน หรือแรงกระแทกซ้ำ ๆ ถ้าแนวเชื่อมไม่ได้คุณภาพ แม้จะดูเหมือนแน่นในตอนแรก ก็อาจเกิดปัญหาตามมาในระยะยาว
แนวเชื่อมที่ไม่แข็งแรงอาจกลายเป็นจุดอ่อนของโครงสร้างทั้งหมด และเป็นสาเหตุให้ชิ้นงานเสียหายหรือเกิดอุบัติเหตุในกรณีที่ใช้งานจริง ๆ เช่น โครงเหล็ก อาคาร รถพ่วง หรืองานเฟอร์นิเจอร์ การใส่ใจเรื่องคุณภาพของแนวเชื่อมจึงไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัย และความคงทนของงานทั้งหมดด้วย
การเชื่อมที่ดีต้องมีอะไรบ้าง?
- แนวเชื่อมต้องแทรกซึมลึกพอ ไม่ใช่แค่แปะไว้เฉย ๆ
- ไม่มีรูพรุน ฟองอากาศ หรือแนวขาดตอน
- ต้องเชื่อมต่อเนื่อง ถูกองศา และท่าทาง
เชื่อมแบบขอไปที อาจใช้ได้ตอนแรก แต่พอผ่านไปไม่นานก็พังเสียหาย เกิดรอยแตก จุดรั่ว หรือชิ้นงานหัก
6. ลวดเชื่อมหนึ่งก้าน ใช้ได้กับโลหะทุกประเภท
อันนี้เจอบ่อยครับ โดยเฉพาะคนที่เริ่มทำงานเชื่อมใหม่ ๆ เห็นเหล็กก็คิดว่าใช้ลวดตัวเดิมได้หมด เพราะเข้าใจว่าเหล็กทุกชนิดเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล่อง เหล็กแผ่น หรือเหล็กหนา จึงใช้ลวดเบอร์เดียวกันทั้งหมดโดยไม่ดูชนิดของโลหะ หรือคุณสมบัติทางกลของชิ้นงานเลย
ความเข้าใจนี้อาจใช้ได้กับงานง่าย ๆ หรือเชื่อมเล่น ๆ แต่ถ้าเป็นงานจริง อย่างงานที่ต้องรองรับน้ำหนัก หรือใช้งานกลางแจ้ง การเลือกใช้ลวดผิดประเภทอาจส่งผลให้แนวเชื่อมล้มเหลวอย่างรวดเร็ว เช่น เชื่อมเหล็กชุบ หรือเหล็กแข็งด้วยลวดธรรมดา ก็อาจเกิดปัญหาแนวเชื่อมแตก ร้าว หรือเกิดสนิมเร็วกว่าปกติ
โลหะแต่ละชนิด ใช้ลวดต่างกัน
- เหล็กเหนียว ใช้ลวด E6013 หรือ E7018
- สแตนเลส ต้องใช้ลวดเชื่อมสำหรับสแตนเลสโดยเฉพาะ เช่น E308L
- อลูมิเนียม ใช้ลวด MIG หรือ TIG เฉพาะอลูมิเนียมเท่านั้น
การใช้ลวดไม่ตรงกับวัสดุ ไม่ใช่แค่เชื่อมไม่ติด แต่งานพังเร็ว สนิมขึ้นเร็ว หรือโครงสร้างอ่อนแอกว่าที่ควรเป็นครับ
สรุป: ลวดเชื่อม วัสดุเล็ก ๆ ที่สำคัญมาก
ลวดเชื่อมอาจดูเหมือนอุปกรณ์พื้นฐานธรรมดา แต่มันเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานเชื่อมที่มีผลทั้งต่อคุณภาพ ความแข็งแรง และความปลอดภัยของชิ้นงานทุกประเภท การเลือกใช้อย่างไม่ใส่ใจหรือเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อย อาจนำไปสู่ความเสียหายที่มากเกินคาดคิด ไม่ว่าจะในระดับงานซ่อมเล็ก ๆ หรืองานก่อสร้างขนาดใหญ่
ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ และให้คุณระมัดระวังมากขึ้นในการใช้งานลวดเชื่อม ทั้งเรื่องการเลือกประเภทของลวด วิธีเก็บรักษา ยี่ห้อ หรือการตั้งค่ากระแสไฟ ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ปลายทางที่คุณต้องการ
เพราะฉะนั้น ก่อนจะเริ่มงานเชื่อมทุกครั้ง อย่าลืมว่า เลือก ลวดเชื่อม ให้ถูกกับเครื่อง ถูกกับงาน และเหมาะกับเป้าหมายของคุณให้มากที่สุด