Customers Also Purchased
ยิ่งไปกว่านั้น สว่านไฟฟ้า หลายรุ่นที่แค่เสียบสายใช้ได้เลย จะออกแบบมาเพื่อความอเนกประสงค์ เช่น เจาะไม้ เหล็ก หรือพลาสติก แต่พอมาเจอกับงานปูนที่ต้องใช้แรงกระแทก กลับไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร
บทความนี้เลยจะพาคุณมาทำความเข้าใจว่า ถ้าอยากใช้สว่านไฟฟ้าเจาะปูน ต้องดูอะไรบ้าง ระบบกระแทกจำเป็นไหม แล้วแบบไหนที่เหมาะจริง พร้อมเทคนิคเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้คุณใช้งานได้ปลอดภัยและคุ้มค่ากับเครื่องมือที่มีอยู่
ทำไมการเจาะปูนถึงต่างจากการเจาะไม้ หรือเหล็ก?
ผมจะเริ่มด้วยการอธิบายก่อนว่า วัสดุอย่าง ปูน อิฐ หรือคอนกรีตนั้น มีลักษณะเฉพาะตัวที่ค่อนข้างแปลกครับ มันทั้งแข็ง และเปราะในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่แข็งแน่นแบบเหล็กที่เจาะด้วยแรงเฉือนก็พอ และก็ไม่ใช่เนื้อเนียนเหมือนไม้ที่แค่หมุนก็ทะลุได้ง่าย ๆ แต่กลับเป็นวัสดุที่เต็มไปด้วยรูพรุนเล็ก ๆ กระจายตัวอยู่ทั่วเนื้อ ทำให้เกิดแรงต้าน และสะสมความร้อนสูงมากเวลาเราเจาะเข้าไป
เพราะแบบนั้น การเจาะปูนจึงต้องอาศัยมากกว่าแค่แรงหมุนธรรมดา การใช้สว่านทั่วไปโดยไม่มีแรงกระแทก ไม่ว่าคุณจะใช้ดอกเจาะปูนแท้ ๆ หรือเร่งรอบให้สุดแรง ก็อาจยังไม่สามารถเจาะได้ลึก หรือได้เร็วอย่างที่ต้องการ แถมยังเสี่ยงต่อการทำให้ดอกสว่านไหม้ มอเตอร์สว่านไฟฟ้าร้อน หรืออุปกรณ์เสียหายอีกด้วย
สิ่งที่สว่านไฟฟ้าขาดไปก็คือแรง “กระแทกซ้ำ ๆ” ที่จะช่วยให้ดอกสว่านค่อย ๆ ทะลุผ่านเนื้อวัสดุ โดยทุบเนื้อปูนออกทีละน้อย ๆ พร้อมกับการหมุน ซึ่งสว่านไฟฟ้าทั่วไป ไม่มีฟังก์ชันนี้ และนั่นคือเหตุผลหลักว่าทำไมสว่านที่ใช้เจาะปูน ต้องเป็นรุ่นที่มีระบบกระแทกครับ
สรุปข้อแตกต่างของวัสดุและแรงที่ต้องใช้
- ไม้: ใช้แรงหมุนก็เพียงพอ เจาะง่าย ไม่ต้องใช้แรงกระแทก
- โลหะ: ต้องใช้แรงเฉือนสูง เร็ว และดอกเจาะเฉพาะ แต่ไม่ต้องกระแทก
- ปูน/อิฐ/คอนกรีต: ต้องใช้ทั้งแรงหมุน และแรงกระแทกควบคู่กัน
ถ้าใช้สว่านผิดประเภท อาจเจอปัญหาเหล่านี้:
- ดอกสว่านไหม้เพราะความร้อนสะสม
- เจาะไม่เข้า หรือได้แค่ตื้น ๆ
- มอเตอร์ทำงานหนักจนร้อน
- ตัวเครื่องสว่านสึกหรอ หรือเสียหายเร็ว
รู้จักประเภทของ สว่านไฟฟ้า
ก่อนจะเลือกซื้อ หรือใช้งานสว่านไฟฟ้าสำหรับเจาะปูน สิ่งแรกที่เราควรรู้คือ สว่านไฟฟ้า มีหลายประเภท บางรุ่นออกแบบมาให้ใช้กับไม้ หรือเหล็กเท่านั้น ขณะที่บางรุ่นสร้างมาเพื่อให้เจาะปูนได้ด้วย การเข้าใจชนิดของสว่านไฟฟ้าจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น ไม่ซื้อผิดประเภท และที่สำคัญคือได้งานที่ตรงความต้องการ ไม่เสียแรง เสียเครื่อง และไม่เจอปัญหาจุกจิกตามมา
1. สว่านไฟฟ้าแบบธรรมดา (Drill/Rotary Drill)
สว่านไฟฟ้าประเภทนี้ คือรุ่นที่ใช้มอเตอร์หมุนดอกสว่านอย่างเดียว ไม่มีแรงกระแทกช่วย ถ้าใช้เจาะไม้ พลาสติก หรือเหล็กบาง ๆ ถือว่าโอเคเลยครับ แต่ว่า...ถ้าจะเอามาเจาะปูนล่ะ? คำตอบคือ เหนื่อยแน่นอน เพราะปูนมีความแข็งมาก ถ้าไม่มีแรงกระแทกช่วย ดอกสว่านจะฝืด ขันเข้าไม่ได้ หรืออาจจะไหม้เพราะแรงเสียดทานสูงเกินไป
สว่านไฟฟ้าแบบหมุนอย่างเดียว บางครั้งอาจระบุบนกล่องว่าเป็น Rotary Drill อย่าสับสนว่าเป็นสว่านโรตารี่นะครับ อันนั้น Rotary Hammer
2. สว่านกระแทกไฟฟ้า (Impact Drill / Hammer Drill)
นี่แหละครับ! ตัวจริงที่หลายคนใช้สำหรับงานเจาะผนังปูน ด้วยระบบ "กระแทก" ที่เพิ่มแรงตอกเบา ๆ เป็นจังหวะพร้อมกับการหมุน ทำให้เจาะปูนได้ง่ายขึ้นมาก ระบบนี้ไม่ถึงกับแรงระดับสว่านโรตารี่ แต่เพียงพอสำหรับงานเจาะผนังบ้านทั่วไป เช่น ผนังอิฐ ผนังปูนฉาบ หรือปูนหล่อที่ไม่หนามาก
3. แล้วสว่านโรตารี่ (Rotary Hammer) ล่ะ?
ถ้าคุณเจาะปูนหนา ๆ เจาะทั้งวัน หรือเจาะในไซต์งานที่ต้องใช้ความเร็ว และความลึก สว่านโรตารี่ คือตัวเลือกที่ดีกว่าครับ เพราะให้แรงกระแทกสูง และใช้ระบบลูกสูบช่วยตอกจริง ๆ ไม่ใช่แค่สั่น ๆ เหมือนสว่านกระแทกทั่วไป แต่ก็ราคาสูงกว่า และหนักกว่าพอสมควร
สว่านไฟฟ้าแบบธรรมดาเจาะปูนได้ไหม?
พูดกันแบบตรงไปตรงมาเหมือนที่ช่างเขาคุยกันนะครับ ถ้าถามว่าสว่านไฟฟ้า ธรรมดาเจาะปูนได้ไหม? คำตอบคือ ได้ครับ แต่ต้องรู้ว่าเรากำลังฝืนเครื่อง และต้องยอมรับว่าเครื่องจะเหนื่อย ดอกจะสึกเร็ว แล้วงานก็จะไม่ง่ายเหมือนใช้ของที่มันถูกประเภท เพราะสว่านธรรมดามันไม่ได้ออกแบบมาเจาะของแข็งอย่างปูนตั้งแต่แรก
เวลาช่างมืออาชีพเห็นคนเอาสว่านธรรมดาไปเจาะผนังปูน เขาจะพูดทันทีว่า "ถ้ารักเครื่อง ก็อย่าทำบ่อย" เพราะมันอาจเจาะเข้าได้สักรูสองรู แต่พอทำบ่อย ๆ เครื่องจะเริ่มอืด เสียงเปลี่ยน ดอกไหม้ แล้วสุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนทั้งเครื่องทั้งดอก เสียทั้งเวลา และเงิน
- ใช้ดอกสว่านที่เหมาะสม เช่น ดอกสว่านเจาะปูน (Masonry Drill Bit) ปลายมีคาร์ไบด์
- กำหนดความลึกที่เหมาะสม เพราะสว่านธรรมดาจะไม่มีแรงกระแทกช่วย ถ้าเจาะลึกมากอาจร้อน หรือไหม้ได้
- เจาะเป็นช่วง ๆ แล้วพัก เพื่อให้ดอกสว่านไม่ร้อนเกินไป
แต่ถ้าถามว่าแนะนำไหม? ผมแนะนำว่า ใช้สว่านกระแทกดีกว่า เพราะประสิทธิภาพดีกว่าแน่นอน แถมประหยัดเวลา และไม่ทำให้ดอกสว่านพังง่ายครับ
ทำไมระบบกระแทกถึงสำคัญ?
เพราะการเจาะปูนไม่ใช่แค่ใช้แรงหมุน แต่ต้องทุบปูนให้แตกเป็นผงแล้วค่อย ๆ ดันดอกลงไป ถ้าสว่านไฟฟ้าไม่มีแรงกระแทก การหมุนอย่างเดียวไม่พอแน่นอนครับ
ระบบกระแทกทำงานยังไง?
ระบบกระแทกของสว่านไฟฟ้า (โดยเฉพาะแบบ Impact Drill) จะเป็นกลไกฟันเฟืองที่หมุน แล้วกระแทกเป็นจังหวะ ส่งแรงตอกไปที่ดอกสว่าน ทำให้เจาะผนังปูนได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า และที่สำคัญคือ ไม่ต้องใช้แรงดันมือมากจนเมื่อย ระบบกระแทกของสว่านโรตารี่จะใช้ลูกสูบ (Piston) ขนาดเล็กในการกระแทกแบบเต็ม ๆ พร้อมกับหมุน ซึ่งแรงกว่าแบบเฟืองหลายเท่า ทำให้เจาะปูนหนาได้สบายถ้าใช้ดอกสว่านถูกดอก
มีแรงกระแทกแต่ดอกไม่เหมาะ ก็เจาะไม่เข้า!
หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าแค่มีสว่านกระแทกก็เจาะได้หมด ความจริงคือ ต้องใช้ดอกที่ถูกต้อง ด้วยนะครับ เช่น ดอกสว่านเจาะปูนที่มีหัวคาร์ไบด์ และถ้าจะเจาะกับสว่านโรตารี่ก็ต้องใช้ดอกแบบ SDS ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจพังทั้งดอก และเครื่อง
เลือกสว่านไฟฟ้ายังไงให้เหมาะกับการเจาะปูน?
- ดูว่ามีระบบกระแทก หรือเปล่า: ต้องดูให้ชัดว่าเป็น "Impact Drill" หรือ "Hammer Drill" จริง ๆ บางรุ่นชื่อคล้ายกันแต่ไม่มีระบบกระแทกนะครับ
- เลือกกำลังวัตต์ให้เหมาะสม: ถ้าจะใช้เจาะปูนบ่อย ๆ ควรเลือกสว่านที่มีกำลังเกิน 600W ขึ้นไป
- ดูน้ำหนัก และขนาด: ถ้าเจาะนาน ๆ ต้องเลือกแบบไม่หนักเกินไป จะได้ไม่เมื่อยมือ
- มีโหมดปรับความเร็ว: จะช่วยให้เริ่มเจาะได้ง่าย และควบคุมได้แม่น
เทคนิคการเจาะปูนให้เวิร์ก
การเจาะปูน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อแขวนสิ่งของ ติดตั้งอุปกรณ์ หรือลงพุกสำหรับงานโครงสร้าง สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ มันมีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยให้เจาะง่าย เจาะเร็ว และไม่พังเครื่อง ซึ่งถ้ารู้ไว้ตั้งแต่แรก จะช่วยให้คุณทำงานได้เหมือนช่างมือโปร ไม่ต้องเสียเวลาเจาะซ้ำ เจาะพลาด หรือเจาะแล้วดอกไหม้ ยิ่งมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้สว่านไฟฟ้า การเข้าใจขั้นตอน และวิธีเจาะปูนอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณทำงานได้ปลอดภัยขึ้น และประหยัดแรงไปได้เยอะจริงครับ
1. เริ่มจากจุดเจาะให้แม่น
ใช้ดินสอ หรือปากกามาร์คจุดไว้ก่อน แล้วใช้ดอกเล็กเจาะนำก่อนเบา ๆ ไม่ต้องรีบ เพื่อให้ดอกไม่ไหลหลุดจากตำแหน่ง
2. ค่อย ๆ เพิ่มแรงกด ไม่ต้องทุ่มสุดกำลัง
ให้เครื่องทำงานไปตามระบบของมัน ไม่ต้องกดแรง เพราะแรงมากไปจะทำให้ดอกร้อน หรือเครื่องเสียหายเร็วขึ้น
3. ใช้โหมดกระแทกเสมอเมื่อเจาะปูน
อย่าลืมสลับโหมดสว่านไฟฟ้าจากหมุนธรรมดาเป็นหมุน+กระแทก (ถ้าเครื่องมีให้เลือก) เพราะนี่คือระบบที่สร้างขึ้นสำหรับการเจาะปูนที่แท้จริง
4. ใส่อุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง
ก่อนเริ่มใช้สว่านไฟฟ้าเจาะปูน อย่ามองข้ามเรื่องความปลอดภัยนะครับ เพราะเศษปูน เศษฝุ่น หรือเสียงดังจากการเจาะ ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อร่างกายได้ การใส่อุปกรณ์ป้องกันจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องที่ควรทำเป็นนิสัยทุกครั้ง อุปกรณ์ป้องกันพื้นฐาน เช่น
- แว่นตา
- หน้ากากกันฝุ่น
- ถุงมือกันลื่น
- ที่อุดหู (ถ้าทำงานนาน)
5. เลือกดอกสว่านที่เหมาะกับการเจาะปูน
เรื่องดอกสว่านนี่ก็สำคัญไม่แพ้ตัวสว่านไฟฟ้าเลยครับ เพราะถึงเครื่องจะแรงขนาดไหน ถ้าใช้ดอกผิดประเภท ก็เจาะไม่เข้า เสียของ เสียเวลา และอาจพังทั้งเครื่องทั้งดอก การเลือกดอกเจาะปูนที่เหมาะสมกับลักษณะงานจึงเป็นพื้นฐานที่ควรรู้ก่อนลงมือเจาะจริง เลือกดอกสว่านสำหรับเจาะปูน ดังนี้
- ดอกคาร์ไบด์ (Carbide Tip): ปลายแข็ง ทนการสึกกร่อนสูง เจาะปูนได้ดี
- ดอก SDS หรือ SDS-Plus: ใช้กับสว่านโรตารี่โดยเฉพาะ ให้แรงกระแทกเต็ม ๆ
- ไม่ควรใช้ดอกเจาะเหล็ก หรือไม้: เพราะจะไหม้ หรือหักได้ง่าย
สรุป สว่านไฟฟ้าเจาะปูนต้องมีระบบกระแทกหรือไม่?
ถ้าคุณจะเจาะแค่ไม้ พลาสติก หรือเหล็กบาง ๆ ใช้สว่านไฟฟ้า ธรรมดาก็พอครับ เพราะวัสดุพวกนี้ไม่ได้มีความแข็งเท่ากับปูน เจาะได้ง่าย และไม่ต้องใช้แรงกระแทกมากมาย แต่ถ้าเป้าหมายของคุณคือการเจาะปูน ไม่ว่าจะเป็น เช่นผนังอิฐฉาบที่ดูบาง ๆ หรือปูนหล่อที่แข็ง และหนา ระบบกระแทกคือ หัวใจสำคัญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
สุดท้าย ถ้ายังไม่มั่นใจว่าสว่านที่คุณมีเจาะปูนได้ไหม ลองเช็คว่าเครื่องมีโหมด "กระแทก" หรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็อาจถึงเวลาหา สว่านไฟฟ้า หรือสว่านกระแทก ดี ๆ สักตัวที่เหมาะกับงานจริง ๆ แล้วล่ะครับ!