Customers Also Purchased
ผมเองก็เคยเข้าใจแบบนั้นอยู่พักใหญ่ จนได้ไปเห็นว่าแค่เปลี่ยนหัวสว่าน หรือดอกสว่านนิดเดียว มันก็กลายร่างเป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งได้ทันที บางทีก็ใช้แทนไขควงได้ หรือเอาไปทำความสะอาด ทำเฟอร์นิเจอร์เอง เรียกได้ว่าสว่านตัวเดียวเหมือนได้เครื่องมืออีกหลายชิ้นแบบคาดไม่ถึงไปเลย
เพราะงั้นในบทความนี้ ผมเลยอยากพาทุกคนไปรู้จักมุมมองใหม่ของเครื่องมือที่ดูเหมือนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา แล้วตอบคำถามว่า “สว่าน หนึ่งตัว ใช้ได้กี่งาน?” พร้อมบอกวิธีใช้ให้คุ้มแบบมืออาชีพ เผื่อใครจะได้ไอเดียหยิบเจ้าสว่านในบ้านมาใช้งานให้เก่งขึ้นกว่าเดิมครับ
ประเภทของสว่านที่ควรเข้าใจ ก่อนจะใช้งานให้คุ้ม
เอาจริง ๆ สว่าน มีหลายประเภทมาก ๆ ครับ และแต่ละประเภทก็มีความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเครื่องมือเฉพาะทางอีกหลายอย่างที่วิวัฒนาการมาจากสว่าน เช่น สว่านแท่น (Drill Press) เครื่องคอริ่ง และเครื่องแย็ก ที่ตอนแรกก็ใช้หลักการเดียวกับสว่านนี่แหละ ซึ่งถ้าใครไม่คุ้นเคยมาก่อน ก็อาจจะเริ่มงงว่าอะไรเป็นอะไรได้ง่าย ๆ เลยครับ
แต่ในบทความนี้ เราจะยังไม่ลงลึกไปถึงเครื่องมืออุตสาหกรรม หรือพวกอุปกรณ์เฉพาะทางมากนัก เราจะโฟกัสไปที่ สว่านทั่วไป ที่หลายคนมีติดบ้าน สว่านที่พกง่าย จับสะดวก ใช้งานอเนกประสงค์ และสามารถดึงศักยภาพออกมาได้สูง ถ้าเราเข้าใจมันดีพอครับ
บางคนอาจจะมีสว่านอยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่าที่ถืออยู่นั้นเรียกว่าสว่านประเภทไหน หรือบางคนอาจกำลังจะซื้อใหม่แต่ไม่แน่ใจว่าจะเลือกแบบมีสาย ไร้สาย หรือหัวงอดี เพราะฉะนั้น ผมเลยจะพาไปรู้จักกับประเภทของสว่านแบบคร่าว ๆ ก่อน เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่า ของที่มีอยู่ หรือ ของที่จะซื้อนั้น มันใช้งานได้ครอบคลุมแค่ไหน และมีอะไรที่คุณยังไม่เคยใช้จากมันบ้าง
สว่านไฟฟ้า (Electric/Corded Drill)
สว่านไฟฟ้า คือสว่านแบบมีสายที่ใช้พลังงานจากปลั๊กไฟโดยตรง เป็นสว่านที่พบได้ทั่วไปในงานช่างมาตั้งแต่สมัยก่อน จุดเด่นคือแรงต่อเนื่อง ใช้งานหนักได้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่หมด จึงยังเป็นที่นิยมในโรงงาน หรือช่างที่ต้องใช้งานต่อเนื่องยาวนานครับ แม้จะไม่คล่องตัวเท่าพวกไร้สาย แต่เรื่องความแรง และความเสถียรนี่ไว้ใจได้เลย
สว่านไร้สาย (Cordless Drill)
ในยุคที่ไม่อยากพันสายไฟให้วุ่นวาย สว่านไร้สายเป็นที่นิยมสูงมาก เพราะใช้งานง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก และไม่ต้องพะวงกับปลั๊กไฟ เพียงแค่มีแบตเตอรี่ และชาร์จให้พร้อม ก็ทำงานได้ทุกที่ ซึ่งหลายรุ่นในปัจจุบันก็รวมฟังก์ชันทั้งเจาะ และไขควงมาในตัวเดียว
ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าสว่านไร้สายสมัยนี้ครอบคลุมหลายประเภทมากครับ ตั้งแต่สว่านงานเบาอย่างสว่านไขควงไฟฟ้า ไปจนถึงรุ่นงานหนักที่มาพร้อมโหมดกระแทก หรือแม้กระทั่งสว่านโรตารี่ก็มีให้เลือกในระบบไร้สายแล้วเหมือนกัน สว่านไร้สายจึงนับว่าเป็นตัวเลือกที่สะดวก และทรงพลัง
สว่านกระแทก (Impact Drill / Hammer Drill)
งานเจาะปูนหรืออิฐ ใช้สว่านทั่วไปอาจจะไม่พอ เพราะมันไม่มีระบบกระแทกนั่นเอง สว่านกระแทกจึงออกแบบมาให้เพิ่มแรงกระแทกในขณะหมุน เหมาะกับการเจาะผนังบ้านทั่วไป โดยไม่ต้องไปถึงโรตารี่ ทำให้งานติดตั้งของในบ้าน เช่น ติดทีวี ติดพัดลม ติดม่าน ทำได้ง่ายขึ้นมาก
สว่านโรตารี่ (Rotary Hammer)
ถ้าคุณทำงานก่อสร้างจริงจัง เจาะปูนแข็ง คอนกรีต หรือโครงสร้างหนา ๆ สว่านโรตารี่คือสิ่งที่คุณต้องมีครับ ด้วยระบบการกระแทกแบบลูกสูบ ทำให้แรงกว่าแบบกระแทกทั่วดาหลายเท่า ใช้คู่กับดอกสว่าน SDS และมีโหมดให้เลือก เช่น เจาะ เจาะกระแทก และสกัดอีกด้วย
สว่านหัวงอ (Angle Drill)
สว่านหัวงอ หรือสว่านมุม เป็นสว่านที่ออกแบบให้หัวเครื่องอยู่ในมุมเฉียงประมาณ 90 องศา เหมาะสำหรับการเจาะ หรือขันในที่แคบ เช่น ด้านหลังตู้ ใต้ซิงก์ หรือตามมุมแคบที่สว่านปกติไม่สามารถเข้าไปได้ จุดเด่นคือความคล่องตัวในพื้นที่จำกัด และสามารถใช้งานได้แม้ในพื้นที่ที่มือเข้าไม่ถึง ด้วยขนาดที่กะทัดรัด ทำให้เหมาะกับงานติดตั้ง ระบบประปา งานบิวท์อิน หรืองานซ่อมในจุดซ่อนเร้น เรียกได้ว่าอเนกประสงค์ในพื้นที่ เฉพาะทางที่สว่านทั่วไปไปไม่ถึงเลยครับ
ใช้สว่านให้คุ้ม: งานที่เครื่องมือเดียวทำได้มากกว่าที่คิด
หลายคนซื้อสว่านมาเพราะอยากเจาะรูแค่รูเดียว ติดชั้นวางของบ้าง ติดราวผ้าม่านบ้าง แล้วก็เก็บเข้ากล่องไปเลย บางทีก็ไม่ได้หยิบออกมาใช้อีกหลายเดือน ทั้งที่ถ้ารู้วิธีใช้ให้คุ้ม สว่านตัวเดียวกลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานบ้านเกือบทุกประเภทได้เลยครับ
ไม่ว่าจะเป็นงานเจาะ งานขัน งานขัด งานตกแต่ง หรืองานก่อสร้างเล็ก ๆ ในบ้าน ถ้าเรารู้ว่าใช้อุปกรณ์เสริมอะไร ปรับรอบ หรือโหมดแบบไหน และเลือกดอกสว่านให้ถูก งานช่างที่เคยดูยากก็จะกลายเป็นเรื่องสนุก และคุ้มค่าสุด ๆ ได้เลย
เจาะวัสดุทั่วไป: ไม้ เหล็ก ปูน พลาสติก
แน่นอนว่างานพื้นฐานที่สุดของสว่านก็คือการเจาะครับ ซึ่งแค่เรื่องเจาะนี่ก็มีความหลากหลายแล้ว เพราะวัสดุที่หนึ่งตัวเจาะได้มีตั้งแต่ไม้ ไม้อัด พลาสติก โลหะบาง เหล็ก ปูน ไปจนถึงคอนกรีต ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดอกสว่านที่ใช้ด้วย เลือกดอกให้ตรงงาน เช่น ดอกเจาะเหล็ก HSS ดอกเจาะปูนหัวคาร์ไบด์ หรือดอกเจาะไม้หัวแหลม ก็ใช้งานได้แบบไม่ยุ่งยากเลย
แต่มีเคล็ดลับนิดนึงครับ ถ้าใครจะเจาะปูน หรือคอนกรีต อย่าใช้สว่านทั่วไป เพราะนอกจากจะเจาะยาก และยังอาจทำให้มอเตอร์ร้อนไหม้ได้อีกต่างหาก ถ้าเน้นใช้งานแบบนี้เป็นหลัก ให้สังเกตดูรุ่นที่ระบุว่ามีโหมด หรือฟังก์ชั่นกระแทก ครับ หรือเลือกแบบโรตารี่ไปเลย
ไขสกรู เป็นไขควงไฟฟ้า
บางที แค่มีสว่าน คุณก็อาจไม่จำเป็นต้องซื้อไขควงไฟฟ้าแยก (ถ้าไม่ต้องใช้ไขควงไฟฟ้าบ่อย ๆ) สว่านที่มีโหมดหมุนซ้าย-ขวา ก็สามารถใช้หัวต่อหัวไขควง (Bit Adapter) เพื่อเปลี่ยนสว่านเป็นไขควงไฟฟ้าได้เลย เหมาะกับพวกงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ ติดตั้งของ หรือใช้งานในงานซ่อมบำรุงบ้านทั่ว ๆ ไป ซึ่งถ้าได้ใช้ แล้วจะติดใจมากครับ เพราะงานที่เคยใช้ไขควงมือหมุนกันจนเมื่อยข้อมือ จะกลายเป็นเรื่องชิล ๆ เลย
แต่ระวังนิดนึงถ้าใช้สว่านแรงมากกับน็อตเล็ก ๆ อาจจะทำให้หัวน็อตบาด หรือขาดได้ ควรตั้งแรงบิดให้พอดีครับ โดยเฉพาะงานไม้
ขัด: เปลี่ยนหัวเป็นจานขัด ก็กลายเป็นเครื่องขัดได้เลย
ใครจะรู้ว่าสว่านธรรมดา ๆ ก็สามารถกลายเป็นเครื่องขัดผิวโลหะ หรือไม้ได้เช่นกัน แค่หาซื้อ “หัวจานขัด” หรือที่เรียกกันว่า backing pad มาใส่ แล้วติดกระดาษทรายเบอร์ที่ต้องการเข้าไป ก็ใช้งานได้แล้ว โดยเฉพาะงานตกแต่งงานไม้ งานรีโนเวท หรือซ่อมบำรุงของเก่า เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่คนทั่วไปมักมองข้ามไป
ถ้าจะให้ขัดเนียน ๆ ก็ใช้รอบต่ำ ๆ และใช้มือกดแบบมีจังหวะ ไม่ควรกดแรง เพราะแรงสว่านอาจทำให้ผิวไหม้ หรือขูดลึกเกินไปได้ครับ
เจาะทำเฟอร์นิเจอร์ DIY
ถ้าคุณเป็นสายงานไม้ ทำโต๊ะ ชั้นวาง ตู้ หรือของตกแต่งบ้าน สว่านตัวเดียวสามารถช่วยคุณทำรูเดือย เจาะนำ เจาะบานพับถ้วย หรือแม้แต่ฝังสกรูแบบไม่ให้หัวโผล่ (ใช้ร่วมกับดอกเฉพาะ) ได้สบาย ๆ เลยครับ ยิ่งถ้ารู้จักอุปกรณ์เสริมอย่าง Kreg jig หรือฟิกเจอร์จับงานต่าง ๆ จะยิ่งเปลี่ยนสว่านให้เป็นคู่หูงานไม้ที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง
จากประสบการณ์การอ่านรีวิว และดูงานทำเฟอร์นิเจอร์ จะพบว่าเกือบทุกคนมีสว่านอย่างน้อย 2 ตัวไว้เลย — ตัวหนึ่งเจาะ ตัวหนึ่งไข เพราะมันประหยัดเวลามาก ไม่ต้องเปลี่ยนหัวบ่อย ๆ
เจาะกระจก เซรามิก หรือกระเบื้อง
ถ้าคุณมีดอกสว่านเฉพาะ เช่น ดอกเจาะกระจก หรือดอกหัวเพชร ก็ใช้งานกับสว่านทั่วไปได้เลย ขอแค่ตั้งรอบต่ำและไม่ใช้แรงกระแทก ก็เจาะกระจก กระเบื้อง หรือสุขภัณฑ์ได้แบบมืออาชีพเลยครับ อาจใช้น้ำช่วยลดความร้อนด้วยก็ยิ่งดี
ใครเคยเจาะกระเบื้องแล้วร้าวจะรู้ว่า ดอก และรอบที่เหมาะสมสำคัญมาก
อยากใช้สว่านให้คุ้ม ต้องรู้อุปกรณ์เสริมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ
บอกเลยว่า สว่านที่คุ้มค่าที่สุดไม่ใช่รุ่นแพงที่สุด แต่คือรุ่นที่ จับคู่กับอุปกรณ์เสริมได้หลากหลาย และเรารู้วิธีใช้อย่างถูกต้องนั่นแหละครับ ต่อไปนี้คือไอเท็มเสริมที่ควรมีติดกล่องเครื่องมือ:
- ดอกสว่านหลายชนิด: ไม้, เหล็ก, ปูน, กระเบื้อง, หัวเพชร
- หัวไขควง และหัวแปลง (Bit Adapter)
- หัวจานขัด + กระดาษทราย
- หัวกวนสี / ปูน / กาว
- ดอกคว้าน, ดอก Forstner, ดอกคว้านฝังหัวน็อต
- ฟิกเจอร์งานไม้ (เช่น Kreg Jig)
- ดอกขัดสนิม หรือแปรงลวดหมุน
ของพวกนี้ราคาไม่แพง แต่ช่วยให้สว่านของคุณใช้งานได้สารพัดประโยชน์ขึ้นอีกหลายเท่า
ข้อควรระวังและสิ่งที่ต้องเช็คก่อนใช้งาน
- ตรวจสอบว่าอุปกรณ์เสริมที่ใช้นั้นเข้ากันได้กับหัวจับดอกของสว่าน เช่น ดอกเจาะทั่วไปกับหัวจับสามขา หรือดอก SDS กับสว่านโรตารี่
- ห้ามใช้สว่านธรรมดาเจาะปูน หรือคอนกรีต เพราะอาจทำให้เครื่องพังเร็ว หรือมอเตอร์ไหม้
- ควรตั้งรอบ และแรงบิดให้เหมาะสมกับชนิดของวัสดุ และประเภทของงาน เพื่อไม่ให้หัวน็อตบาด หรือดอกสว่านหัก
- หมั่นตรวจสอบสภาพของแบตเตอรี่ (ในกรณีที่ใช้สว่านไร้สาย) และดอกสว่าน ว่ามีรอยแตกร้าวหรือบิ่นหรือไม่
- สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย เช่น แว่นตา ถุงมือ หรือหน้ากากกันฝุ่นทุกครั้งเมื่อใช้ในระยะเวลานาน หรือใช้กับวัสดุแข็ง
การใช้งานสว่านให้คุ้ม นอกจากการใช้ให้หลากหลาย ยังต้องใช้ให้ปลอดภัย และถูกวิธีด้วยครับ
สรุป: สว่านตัวเดียวถ้าใช้เป็น คุ้มกว่าที่คิดเยอะ!
จะเห็นเลยว่าสว่านไม่ได้เป็นแค่ เครื่องเจาะรู อย่างที่หลายคนเข้าใจครับ แต่มันเป็นเหมือนเครื่องมือช่างอเนกประสงค์ที่เราสามารถต่อยอดใช้งานได้อีกมากมาย ทั้งงานเจาะ ขัน ขัด หรือทำเฟอร์นิเจอร์ ครอบคลุมตั้งแต่งาน DIY ในบ้าน จนถึงงานก่อสร้างจริงจังเลยทีเดียว
สิ่งสำคัญ คือเราต้องรู้ก่อนว่าสว่านของเราทำอะไรได้บ้าง และมีอุปกรณ์อะไรที่สามารถทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ได้ ถ้าเลือกให้ถูก ใช้ให้เป็น สว่านแค่ตัวเดียวก็อาจเปลี่ยนชีวิตงานช่างของคุณได้เลยครับ
ลองเลือก สว่าน ดี ๆ สักตัวที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไป แล้วค่อย ๆ หาอุปกรณ์เสริมที่คุณยังไม่เคยลองใช้ดูครับ ไม่ว่าจะเป็นหัวไขควง หัวขัด หัวกวน หรือดอกเจาะเฉพาะทาง เพราะอุปกรณ์พวกนี้ แหละ ที่จะเปลี่ยนให้อุปกรณ์ธรรมดา ๆ ให้เป็นเครื่องมือที่ทำได้หลายงานเลยก็ว่าได้