Customers Also Purchased
เคยสงสัยกันไหมว่าเวลานำรถไปซ่อมที่อู่ทำไมช่างจึงเอาน๊อตแน่น ๆ สนิมเขรอะออกได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นแม้ว่าน๊อตจะติดแน่นเพียงใดก็ตาม ช่างยนต์คงไม่ได้ใช้ประแจธรรมดาแบบที่เรามีในบ้านแน่ๆ แล้วเขาใช้อะไรล่ะ? “บล็อกไฟฟ้า” คือหนึ่งในเครื่องมือที่ช่างใช้ถอดและขันน็อต เป็นอุปกรณ์ที่ครอบคลุมทุกงานช่าง และงานDIY ไม่ว่าจะเป็นงานซ่อมแซมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงงานก่อสร้างที่ต้องคำนึงถึงแรงงานและเวลา รวมไปถึงการวางรากฐานที่มั่นคงปลอดภัย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้การขันน็อตที่ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป
บล็อกไฟฟ้า คืออะไร ?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับ “บล็อกไฟฟ้า” กันก่อน บล็อกไฟฟ้า หรือบล็อกขันน็อตไฟฟ้า (Electric Wrench) เป็นเครื่องมือจักรกล (Power Tool) ที่ทำหน้าที่เหมือนประแจที่ใช้มือหมุนเพื่อการขันและคลายน็อต แต่เปลี่ยนจากการใช้แรงบิดจากมือเป็นการใช้แรงบิดจากมอเตอร์ไฟฟ้าแทน ซึ่งมีกำลังบิดสูงทำให้บล็อกไฟฟ้าเป็นเครื่องทุ่นแรงชั้นเยี่ยมและมีความจำเป็นสำหรับงานช่างในยุคปัจจุบัน
ประเภทของบล็อกไฟฟ้า
บล็อกไฟฟ้าหรือ บล็อกขันน็อตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ บล็อกไฟฟ้าแบบมีสาย (Corded Electric Wrench) ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากปลั๊กไฟโดยตรง ซึ่งทำให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ เหมาะสำหรับการใช้งานในสถานที่ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าตลอดเวลา และ บล็อกไฟฟ้าแบบไร้สาย (Cordless Electric Wrench) ใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน มีความสะดวกในการพกพาและสามารถใช้งานในพื้นที่ที่ไม่มีปลั๊กไฟได้ เหมาะสำหรับการใช้งานในสถานที่ภายนอกหรือพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ข้อเสียคือจำเป็นต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่เป็นระยะ
องค์ประกอบของบล็อกไฟฟ้า
องค์ประกอบหลักของบล็อกไฟฟ้า มีหลายส่วนที่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างแรงบิดและทำให้การขันหรือคลายน็อตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีส่วนประกอบสำคัญดังนี้:
1. มอเตอร์ (Motor)
- มอเตอร์เป็นส่วนที่ทำหน้าที่หมุนแกนขับและสร้างแรงเพื่อขับเคลื่อนหัวบล็อกไฟฟ้า โดยมอเตอร์นี้อาจใช้ไฟฟ้าจากปลั๊กหรือจากแบตเตอรี่ โดยขึ้นอยู่กับประเภทของบล็อกไฟฟ้า
2. ลูกตี (Hammer)
- เป็นชิ้นส่วนภายในที่ทำให้เกิดการกระแทกของบล็อกไฟฟ้า เมื่อมอเตอร์หมุนและเจอกับแรงต้าน ลูกตีจะหมุนแล้วกระแทกกับแกน เพื่อเพิ่มแรงบิดอย่างต่อเนื่องจนทำให้บล็อกไฟฟ้าสามารถคลายหรือขันน็อตได้
3. แกน (Anvil)
- เป็นชิ้นส่วนภายในบล็อกไฟฟ้าที่ทำหน้าที่รับแรงกระแทกจากลูกตีและถ่ายทอดแรงนี้ไปยังหัวบล็อกไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ขันน็อต การกระแทกนี้ทำให้สามารถเพิ่มแรงบิดได้โดยไม่ต้องใช้แรงหมุนตลอดเวลา
4. ไกควบคุม (Trigger)
- ไกควบคุมหรือสวิตช์กด เป็นส่วนที่ผู้ใช้งานกดเพื่อเปิดหรือปิดการทำงานของบล็อกไฟฟ้า บางรุ่นมีระบบปรับความเร็วหรือแรงบิดของบล็อกไฟฟ้าตามระดับการกดไก
5. แบตเตอรี่ (Battery) หรือ สายไฟ (Power Cord)
- บล็อกไฟฟ้ารุ่นไร้สาย จะมีแบตเตอรี่เป็นแหล่งจ่ายไฟ ส่วนบล็อกไฟฟ้ารุ่นมีสายไฟ ก็จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากปลั๊ก
6. หัวบล็อกไฟฟ้า (Socket)
- หัวบล็อกไฟฟ้าคือชิ้นส่วนที่ถอดเปลี่ยนได้ ซึ่งต่อเข้ากับน็อตหรือสกรูเพื่อทำการขันหรือคลาย โดยหัวบล็อกมีหลายขนาดให้เลือกตามขนาดของน็อต
กลไก “ลูกตี และ แกน” ของบล็อกไฟฟ้า
เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบกระแทกในบล็อกไฟฟ้า โดยทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มแรงบิดให้มากขึ้นกว่าการหมุนแบบธรรมดา ลูกตีจะหมุนอย่างรวดเร็วเมื่อไม่มีแรงต้าน แต่เมื่อเจอแรงต้านจากน็อตที่แน่น ลูกตีจะชะลอ การหมุนแล้วกระแทกเข้าไปที่แกน แกนรับแรงกระแทกจากลูกตีแล้วถ่ายทอดแรงนี้ไปยังหัวบล็อกเพื่อขันหรือคลายน็อต
ข้อดีของบล็อกไฟฟ้า
การใช้บล็อกไฟฟ้าจะช่วยให้ประหยัดแรงและเวลาในทุก ๆ งานช่าง งานก่อสร้าง และงาน DIY เพราะบล็อกไฟฟ้ามีแรงบิดที่สามารถขันน็อตได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเครื่องมือมือหมุนเป็นอย่างมาก บล็อกไฟฟ้ายังสามารถช่วยลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บหรือเหนื่อยล้าเนื่องจากไม่ต้องใช้แรงจากผู้ใช้โดยตรงเหมือนกับการใช้ประแจขันน็อต ผู้ใช้ยังสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องสำหรับงานที่จำเป็นต้องขันและคลายน็อตหลายครั้ง บล็อกไฟฟ้าหลายรุ่นมีสิ่งอำนวยสะดวกในการใช้งาน เช่น อุปกรณ์เสริม ไม่ว่าจะเป็นไฟ LED ที่สามารถส่องเวลาใช้งานในที่ที่มีแสงน้อย หรือด้ามจับและไกที่ออกแบบมาเพื่อความสะดวกต่อการใช้งานทุกประเภท นอกจากนี้ยังมีบล็อกไฟฟ้าให้เลือกหลายชนิด หลายยี่ห้อ ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยบล็อกไฟฟ้ารุ่นไร้สายจะสามารถทำงานในที่ที่มีพื้นที่จำกัด เข้าถึงยาก หรือไม่มีไฟฟ้าได้
ข้อควรระวังในการใช้งานบล็อกไฟฟ้า
1. ตรวจสอบแรงบิดที่เหมาะสม
- ควรตั้งค่าหรือเลือกใช้บล็อกไฟฟ้าที่มีแรงบิดเหมาะสมกับงาน หากใช้แรงบิดสูงเกินไป อาจทำให้น็อตหรือสกรูเสียหายได้
2. การสวมอุปกรณ์ป้องกัน
- ควรสวมใส่แว่นตาและถุงมือเพื่อป้องกันอันตรายจากการกระเด็นของวัสดุหรือแรงกระแทกจากบล็อกไฟฟ้า
3. ตรวจสอบแบตเตอรี่
- หากใช้บล็อกไฟฟ้าไร้สาย ควรตรวจสอบแบตเตอรี่ก่อนใช้งาน และหลีกเลี่ยงการใช้บล็อกไฟฟ้าในขณะที่แบตเตอรี่ใกล้หมดเพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของมอเตอร์บล็อกไฟฟ้า
สรุป
บล็อกไฟฟ้าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงในการทำงานที่ต้องการแรงบิดมากๆ สามารถช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ต้องใช้ความเร็วในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเบ็ดเตล็ดทั่วไป เช่นงานซ่อมแซมเครื่องจักรยานยนต์ หรือการติดตั้งเครื่องจักร ไปจนถึงงานใหญ่ ๆ เช่นงานก่อสร้างที่ต้องใช้ความชำนาญ โดยเฉพาะเรื่องการขันน็อตที่ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และใช้แรงกับความแน่นที่เสมอกัน
เลือกบล็อกไฟฟ้าให้เหมาะกับการใช้งาน