10 เครื่องมือช่างสุดจำเป็น ในหมวดงานช่างต่างๆ

      เครื่องมือช่างมีเยอะมาก แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราควรมีอะไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ เราได้จัดจำแนกเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับงานช่างสายต่างๆ เอาไว้แล้ว ซึ่งช่างแต่ละสายมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือแตกต่างกันไป บางอย่างก็มีทั้งเครื่องมือช่างธรรมดา (Hand Tools) และ เครื่องมือช่างไฟฟ้า (Power Tools) สามารถเลือกได้ตามใจว่าสะดวกใช้แบบไหน โดยเราจะแบ่งเป็น 10 หมวด หมวดละ 10 เครื่องมือ หากใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่ายังขาดเครื่องมือที่จำเป็นอีกก็สามารถเพิ่มให้เราเป็น 11, 12, 13 ไปเรื่อยๆ ได้


หมวดที่ 1 เครื่องมือช่างประจำบ้าน (Daily Tools / Houseworking Tools)

      1. ประแจ (ภาษาอังกฤษ : Wrench) ใช้ขันน็อตแบบเหลี่ยมต่างๆ

      2. ค้อนหงอน (ภาษาอังกฤษ : Claw Hammer) เอาไว้ทุบทำลาย ตอกตะปู ถอนตะปู

      3. คีม (ภาษาอังกฤษ : Plier) สำหรับคีบ จับ ดัด ตัด สายไฟและเส้นลวด

      4. ไขควง (ภาษาอังกฤษ : Screwdriver) ใช้ขันสกรูตัวเล็กๆ ในเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

      5. ตลับเมตร (ภาษาอังกฤษ : Measuring Tape) ใช้วัดสิ่งของได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดพื้นที่และรูปทรง

      6. มีดและกรรไกร (ภาษาอังกฤษ : Cutter and Scissors) เอาไว้ตัดหรือกรีดสิ่งต่างๆ

      7. กรรไกรตัดกิ่ง (ภาษาอังกฤษ : Pruning Shears) ใช้ตัดกิ่งไม้บนต้นไม้หรือพุ่มไม้ที่มากเกินไปจนอาจเป็นอันตราย

      8. ชะแลง (ภาษาอังกฤษ : Wrecking Bar / Crowbar) ไว้งัดตะแกรงท่อระบายน้ำ ฝาท่อ หรือประตูหน้าต่างๆ ในกรณีฉุกเฉิน

      9. บันได (ภาษาอังกฤษ : Ladder / Step Stool) สำหรับปีนขึ้นที่สูงเพื่อเก็บของหรือซ่อมของที่อยู่สูง เช่น ชั้นวางติดผนัง ตู้ติดผนัง หลอดไฟ

      10. ขวาน (ภาษาอังกฤษ : Axe) ใช้จาม ผ่า หรือตัดไม้ใหญ่ๆ หนาๆ

เครื่องมือช่างประจำบ้าน (Daily Tools / Houseworking Tools)


หมวดที่ 2 เครื่องมือช่างงานไม้ (Woodworking Tools)

      1. เครื่องมือวัด (ภาษาอังกฤษ : Measuring Tools) ควรมีหลายๆ อย่างเพื่อความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นตลับเมตร ไม้บรรทัด ไม้ฉาก หรือระดับน้ำ

      2. ดินสอเขียนไม้ (ภาษาอังกฤษ : Carpenter Pencil) ไส้จะแข็งแรงและใหญ่กว่าดินสอธรรมดา เขียนบนไม้ได้ชัด ใช้งานได้นาน ไม่แตกหักง่าย เช่น ดินสอของ Pica

      3. เลื่อย (ภาษาอังกฤษ : Saw) ใช้ตัดไม้ให้ได้ตามรูปทรงหรือขนาดที่ต้องการ มีแบบมือและแบบไฟฟ้า

      4. สว่านไฟฟ้า (ภาษาอังกฤษ : Electric Drill) สำหรับเจาะไม้เป็นรูเพื่อใส่สกรู หรือทำรูเจาะนำการตัดและการเซาะร่อง สามารถใช้แบบที่เป็นทั้งสว่านและไขควงในตัวได้

      5. ไขควงกระแทก (ภาษาอังกฤษ : Impact Screwdriver) เอาไว้ขันสกรูลงในไม้ สามารถใช้แบบที่เป็นทั้งสว่านและไขควงในตัวได้

      6. กบไสไม้ (ภาษาอังกฤษ : Planner) ใช้ทำให้แผ่นไม้บางลง หรือไสเอาส่วนที่ไม่สวยงามออก ซึ่งการไสจะกินเนื้อไม้มากกว่าขัดด้วยกระดาษทราย มีทั้งแบบมือ แบบไฟฟ้า และแบบตั้งโต๊ะ

      7. สิ่ว หรือ เครื่องเซาะร่อง (ภาษาอังกฤษ : Chisel or Grooving Machine) ใช้ทำไม้ให้เป็นร่อง หรือเป็นลวดลายต่างๆ มีประโยชน์ด้านความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ 

      8. กระดาษทราย หรือ ฟองน้ำทราย หรือ เครื่องขัดกระดาษทราย (ภาษาอังกฤษ : Sandpaper or Sanding Sponges or Power Sander) ใช้ขัดไม้ให้เรียบเสมอกัน หรือลบร่องรอยต่างๆ ที่ไม่สวยงาม เช่น รอยดินสอ รอยกาวที่แห้งแล้ว 

      9. แคลมป์ หรือ มือจับชิ้นงาน (ภาษาอังกฤษ : Clamp) สำหรับจับไม้ให้แน่น ยึดอยู่กับที่ เพื่อให้การเจาะ ตัด และอื่นๆ เป็นไปได้ง่าย ไม่ผิดจากรูปแบบที่วางไม้ มีประโยชน์มากสำหรับคนที่ทำงานคนเดียว

      10. โต๊ะทำงานไม้แบบมีรู (ภาษาอังกฤษ : Wood Workbench) ไม่ว่างานไหนๆ ก็ต้องมีโต๊ะทำงาน โต๊ะแบบมีรูจะใช้กับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่นๆ ได้ดีมาก เช่น แคลมป์ รางเลื่อน รั้วหรือบาร์กั้นต่างๆ

เครื่องมือช่างงานไม้ (Woodworking Tools)


หมวดที่ 3 เครื่องมือช่างงานไฟฟ้า (Electrical Working Tools)

      1. ไขควงวัดไฟ (ภาษาอังกฤษ : Electrical Tester) ใช้วัดกระแสไฟตกค้างก่อนทำงาน ป้องกันไฟช็อตโดยไม่รู้ตัว 

      2. คีมปากจิ้งจก หรือ คีมปลายแหลม (ภาษาอังกฤษ : Needle-nose Plier or Long-nose Plier) เอาไว้จับหรือดึงสายไฟที่อยู่ในจุดลึกๆ แคบๆ ออกมาทำงาน

      3. คีมปอกสายไฟ และ คีมย้ำสายไฟ (ภาษาอังกฤษ : Wire Strippers and Crimping Plier) ใช้ปอกสายไฟเพื่อเชื่อมตัวนำ และต่อวงจร

      4. คีมตัดสายไฟ หรืออุปกรณ์ตัดสายไฟ (ภาษาอังกฤษ : Cable Cutter) เช่น คีมตัดข้าง กรรไกร มีด 

      5. ไขควงหุ้มฉนวน (ภาษาอังกฤษ : Insulated Screwdriver) ใช้ขันน็อตหรือสกรูในชิ้นส่วนหรือฝาครอบต่างๆ มีแบบหุ้มฉนวนกันไฟทั่วไปและแบบ VDE

      6. เทปพันสายไฟ หรือเทปฉนวน (ภาษาอังกฤษ : Electrical Tape) มีกาวในตัว ไวต่อแรงกด ป้องกันตัวนำที่มีความละเอียดอ่อนจากความร้อนและรอยขีดข่วนในจุดที่มีการเชื่อมใหม่

      7. ประแจตัวแอล หรือ L-keys (ภาษาอังกฤษ : Hex Key) เอาไว้ขันน็อตหรือสกรูหัวจม ควรมีแบบเป็นเซตหลายๆ เบอร์

      8. ประแจเลื่อน (ภาษาอังกฤษ : Adjustable Wrench) ใช้ขันน็อตขนาดต่างๆ ได้ดี ใช้สะดวก ไม่จำเป็นต้องพกประแจหลายอัน

      9. ไฟฉาย (ภาษาอังกฤษ : Flashlight) ในบางจุดของงานไฟฟ้ามักพบว่าอับแสง มองอะไรไม่ชัด ไฟฉายช่วยให้มองเห็นสายไฟในที่มืดๆ หรือมุมอับแสงได้

      10. ค้อนหงอน (ภาษาอังกฤษ : Claw Hammer) ระบบไฟฟ้าบางที่หรือบางบ้านใช้ตะปูปิดกล่องหรือที่ครอบ ค้อนหงอนใช้งัดเปิดและตอกตะปูปิดคืนได้

เครื่องมือช่างงานไฟฟ้า (Electrical Working Tools)


หมวดที่ 4 เครื่องมือช่างงานยานยนต์ (Automotive Working Tools)

      1. ประแจทอร์กหรือด้ามฟรี และลูกบล็อก (ภาษาอังกฤษ : Ratchet Wrench and Socket Set) ใช้ขันน็อตได้อย่างอิสระ แม้ในมุมลึกหรือแคบ

      2. ด้ามบล็อก (ภาษาอังกฤษ : Locking Extention Bar) ใช้ต่อความยาวประแจเพื่อขันน็อตในมุมที่เข้าถึงยาก และช่วยเพิ่มแรงบิด

      3. ประแจเลื่อน (ภาษาอังกฤษ : Adjustable Wrench) ไว้ขันน็อตหกเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม ไม่ต้องซื้อหลายเบอร์

      4. ตัวหนีบขั้วแบตเตอรี่ (ภาษาอังกฤษ : Battery Charger Clamp) สำหรับการชาร์จแบตรถ ควรเป็นแบบหุ้มฉนวนป้องกันไฟดูด

      5. ไขควง (ภาษาอังกฤษ : Screwdriver) ควรมีแบบเป็นเซตหลายขนาด เพื่อขันสกรูตามจุดต่างๆ ของรถ ถ้าหุ้มฉนวนด้วยก็จะดีมาก

      6. ตะขอและปิ๊กแบบต่างๆ (ภาษาอังกฤษ : Hook and Pick Set) สำหรับงานซ่อมที่ละเอียด ลดความเสียหายกับบริเวณที่ไม่เกี่ยวข้อง เข้าถึงในจุดที่ทำงานลำบากได้

      7. กากบาทขันล้อรถ หรือ ประแจปอนด์ (ภาษาอังกฤษ : Breaker Bar or Torque Wrench) เอาไว้ถอดน็อตขนาดใหญ่ที่ยึดล้อรถสำหรับการเปลี่ยนล้อหรือยาง

      8. มาตรวัดลมยาง (ภาษาอังกฤษ : Tire Pressure Gauge) ใช้วัดลมยาง เช็คลมยาง ให้มีค่าที่เหมาะสม

      9. ปั๊มสุญญากาศ (ภาษาอังกฤษ : Vacuum Pump) ใช้ทดสอบเซ็นเซอร์และมอเตอร์ที่ควบคุมด้วยสุญญากาศ หรือหารอยรั่วตามสายส่งอากาศและของเหลว

      10. แม่แรงตะเข้ (ภาษาอังกฤษ : Floor Jack / Trolley Jack) เครื่องมือที่ช่วยยกรถด้วยกลไกไฮดรอลิค ช่วยในการเปลี่ยนยางหรือซ่อมเครื่องยนต์ใต้ท้องรถ

เครื่องมือช่างงานยานยนต์ (Automotive Working Tools)


หมวดที่ 5 เครื่องมือช่างงานเหล็ก (Metal Working Tools)

      1. ค้อน (ภาษาอังกฤษ : Hammer) ใช้ทุบ ตี หรือดัดเหล็กให้เป็นรูปทรงอย่างง่าย

      2. ปากกาทำเครื่องหมาย (ภาษาอังกฤษ : Marker) ใช้เขียน ร่าง หรือมาร์คจุดที่ต้องการทำงานบนเหล็ก ไส้จะมีหลายสีเพื่อให้มองเห็นชัด 

      3. เลื่อยไฟฟ้า (ภาษาอังกฤษ : Electric Saw) ไว้ตัดเหล็กหนาๆ หรือเหล็กท่อน ส่วนใหญ่จะใช้เลื่อยวงเดือน

      4. สว่านไฟฟ้า (ภาษาอังกฤษ : Electric Drill) ไว้จะรูหรือเจาะนำ

      5. แหนบ หรือ คีมคีบเหล็ก (ภาษาอังกฤษ : Tongs) ไว้จับเหล็กที่ร้อนเกินกว่าจะใช้ถุงมือหยิบ

      6. กรรไกรตัดโลหะ (ภาษาอังกฤษ : Metal Nibbler) ใช้ตัดเหล็กแผ่นให้เป็นรูปร่างตามต้องการ

      7. แปรงลวด หรือ แปรงไฟเบอร์ (ภาษาอังกฤษ : Wire Brush) ใช้ปัดเศษวัสดุส่วนเกินออกจากชิ้นงานที่ร้อนมากๆ

      8. แว่นนิรภัย (ภาษาอังกฤษ : Safety Glasses) ช่วยปกป้องดวงตาจากเศษเหล็กเศษโลหะกระเด็น เพราะมีอันตรายสูง อาจทำให้ตาบอดได้

      9. เครื่องเจียร (ภาษาอังกฤษ : Grinder) ใช้เก็บงานพวกรอยเชื่อมต่างๆ หรือขัดให้มีความเงางาม

      10. เครื่องเชื่อมโลหะ (ภาษาอังกฤษ : Welder) ไว้เชื่อมเหล็ก อลูมิเนียม สแตนเลส 

เครื่องมือช่างงานเหล็ก (Metal Working Tools)


หมวดที่ 6 เครื่องมือช่างงานปูน (Mason Working Tools)

      1. ค้อนหัวแหลม (ภาษาอังกฤษ : Scabbling Hammer) น้ำหนักเยอะ ไว้ทุบทำลายหรือทุบลงบนเหล็กสกัด หัวข้างหนึ่งปลายค่อนข้างแหลม ช่วยกำหนดจุดเริ่มต้นทุบได้แม่นยำขึ้น

      2. เหล็กสกัด หรือเครื่องสกัด (ภาษาอังกฤษ : Cold Chisel or Power Hammer) ใช้ทำลายหรือกระเทาะปูน อิฐ คอนกรีต

      3. สว่านเจาะปูน (ภาษาอังกฤษ : Rotary Drill) ใช้เจาะรูขนาดเล็กถึงปานกลาง

      4. เครื่องคอริ่ง (ภาษาอังกฤษ : Coring Drill) ใช้เจาะรูขนาดใหญ่เพื่อติดตั้งหรือเชื่อมระบบที่รากฐานสิ่งก่อสร้าง เช่น เดินท่อ 

      5. เลื่อยวงเดือน (ภาษาอังกฤษ : Circular Saw) ไว้ตัดคอนกรีต ก้อนอิฐ หรือกระเบื้อง ให้ได้ขนาดตามต้องการ

      6. ชะแลง (ภาษาอังกฤษ : Crowbar) เอาไว้งัดก้อนปูน คอนกรีต หรือของต่างๆ ที่หนา หนัก ใหญ่

      7. ไม้ฉาก (ภาษาอังกฤษ : Square Ruler) ช่วยให้การทำงานง่ายและมีประสิทธิภาพ ทำมุมต่างๆ ได้ง่ายและแม่นยำ ขนาด 500 มม. กำลังดี

      8. เกรียง (ภาษาอังกฤษ : Trowel) ไว้ฉาบปูน มีหลายแบบเพื่อให้ทำงานง่าย

      9. ตลับเมตร (ภาษาอังกฤษ : Measuring Tape) ใช้วัดระยะของสิ่งต่างๆ วัดได้ยาวและแม่นยำ ถ้ามีงบเยอะหน่อยใช้แบบเลเซอร์วัดระยะจะยิ่งสะดวก

      10. ระดับน้ำ (ภาษาอังกฤษ : Spirit Level) ใช้วัดองศางาน ไม่ให้เอียงหรือเบี้ยว

เครื่องมือช่างงานปูน (Mason Working Tools)


หมวดที่ 7 เครื่องมือช่างงานประปา (Plumbing Working Tools)

      1. คีมค้อม้า (ภาษาอังกฤษ : Pipe Wrench) เอาไว้ขันท่อ 

      2. ประแจเลื่อน (ภาษาอังกฤษ : Adjustable Wrench) ใช้ขันน็อตหัวเหลี่ยมต่างๆ

      3. คีมตัดท่อ (ภาษาอังกฤษ : Tubing Cutter) สำหรับตัดท่อให้ได้ความยาวที่ต้องการ มีแบบที่ตัดท่อพลาสติก ท่อเหล็ก และท่อแบบอื่นๆ

      4. เลื่อยตัดเหล็ก (ภาษาอังกฤษ : Hacksaw) ใช้ตัดท่อที่หนาและกว้างเกินกว่าคีมตัดท่อจะทำได้ ตัดวัสดุได้หลากหลายในอันเดียว

      5. สว่านเจาะรูกลม (ภาษาอังกฤษ : Hole Saw) ใช้เจาะรูกว้างๆ สำหรับเดินท่อผ่านรั้ว กำแพง หรือผนัง

      6. ที่ต๊าปเกลียว (ภาษาอังกฤษ : Ratcheting Pipe Threader) เอาไว้แก้ไขหรือสร้างเกลียวให้ท่อ เพื่อให้ชิ้นส่วนทั้งสองชิ้นต่อเข้าด้วยกันได้แน่นหนา และลดโอกาสรั่วซึมหรือแยกออกจากกันเพราะแรงดันน้ำ

      7. เทปปิดเกลียว (ภาษาอังกฤษ : Thread Sealing Tape) ใช้ซีลข้อต่อท่อต่างๆ เพื่อป้องกันการรั่วซึม และทำให้การเชื่อมต่อแน่นหนาดี

      8. เครื่องเป่าลมร้อน (ภาษาอังกฤษ : Heat Gun) ใช้คลายท่อแน่นๆ ให้ขันง่ายขึ้น หรือปิดผนึกบางจุดเพื่อป้องกันการรั่วซึม (ในกรณีท่อพลาสติกที่ละลายได้) หรือใช้ดัดท่อให้เข้ามุมตามต้องการ 

      9. ไฟฉาย (ภาษาอังกฤษ : Flashlight) งานประปาบางจุดที่ต้องซ่อมแซมแสงอาจเข้าไม่ถึง ทำให้มองไม่เห็นแม้จะเป็นเวลากลางวัน ไฟฉายจึงจำเป็น

      10. ตลับเมตร (ภาษาอังกฤษ : Measuring Tape) ใช้วัดระยะและขนาดสิ่งต่างๆ เพื่อติดตั้ง แก้ไข หรือซ่อมแซมระบบประปา

เครื่องมือช่างงานประปา (Plumbing Working Tools)


หมวดที่ 8 เครื่องมือช่างแอร์ (HVAC Working Tools)

      1. มาตรวัดแรงดันก๊าซและของเหลว (ภาษาอังกฤษ : Manifold Gauge) ใช้ดูความดันของสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ จะทำให้รู้ว่าระบบมีรอยรั่วหรือไม่

      2. แคลมป์มิเตอร์ (ภาษาอังกฤษ : Digital Clamp Multi-meter) มัลติมิเตอร์แบบคล้องกับสายหรือท่อได้ ใช้วัดพวกแรงดัน กระแส และความต้านทานในทางไฟฟ้า

      3. ปั๊มสุญญากาศ (ภาษาอังกฤษ : Vacuum Pump) สำหรับดึงของเหลวและก๊าซออกจากระบบ

      4. อุปกรณ์เปลี่ยนถ่ายน้ำมัน (ภาษาอังกฤษ : Oil Filter Wrench) ใช้เปลี่ยนถ่ายน้ำมัน หรือกรองน้ำมัน แยกน้ำกับน้ำมันหรือสารตกค้างอื่นๆ ออกจากกัน

      5. อุปกรณ์ตัดท่อ (ภาษาอังกฤษ : Tubing Cutter) การติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศต้องจัดการกับท่อด้วยบ่อยครั้ง ควรมีไว้เพื่อตัดท่อต่างๆ

      6. ประแจหกเหลี่ยม L-key (ภาษาอังกฤษ : Allen Key / Hex Key) ใช้ขันน็อตหกเหลี่ยมซึ่งมีอยู่ในเครื่องปรับอากาศหลายจุด

      7. ประแจทอร์กและลูกบล็อก (ภาษาอังกฤษ : Ratchet Wrench and Socket Set) ใช้ได้อิสระมากกว่าประแจปากตาย เข้าถึงซอกแคบๆ ได้ดี เพราะส่วนมากระบบปรับอากาศจะถูกติดตั้งตามซอกหรือมุมอับสายตา พื้นที่ทำงานของช่างจึงอาจไม่มากพอให้ใช้ประแจปากตายได้อย่างอิสระ 

      8. คีมปากจิ้งจก (ภาษาอังกฤษ : Nose Plier) ใช้ถอดหรือตัดส่วนที่หุ้มสายไฟและสายอื่นๆ ออก การซ่อมบำรุงระบบปรับอากาศจำเป็นต้องจัดการกับสายไฟด้วย

      9. ไขควงปากแฉก (ภาษาอังกฤษ : Phillips Screwdriver) ใช้ขันสกรูตามส่วนประกอบต่างๆ หรือหน้ากาก หรือแผงครอบแอร์

      10. ระดับน้ำ (ภาษาอังกฤษ : Spirit Level) สำคัญมากสำหรับการติดตั้งครั้งแรก เพื่อไม่ให้ตำแหน่งที่ติดตั้งเอียงกระเท่เร่

เครื่องมือช่างแอร์ (HVAC Working Tools)


หมวดที่ 9 เครื่องมือช่างงานสี (Painting Working Tools)

      1. เครื่องเป่าลมร้อน (ภาษาอังกฤษ : Heat Gun) ทำให้สีอ่อนตัว การลอกสีจะง่ายขึ้น 

      2. มีดฉาบ / มีดแซะ (ภาษาอังกฤษ : Putty Knife) ไว้สำหรับปาดสีใหม่ หรือเซาะสีเก่าออก

      3. ฟองน้ำทราย (ภาษาอังกฤษ : Sanding Sponges) ใช้ขัดสีที่ออกยากหรือติดตามซอกเล็กๆ ของเนื้อปูนและเนื้อไม้ ทำให้ไม่สูญเสียเนื้องานมาก

      4. ลูกกลิ้งทาสี (ภาษาอังกฤษ : Color Rollers) เอาไว้ทาสีผนังหรือเพดานให้งานเสร็จเร็ว

      5. ถาดลูกกลิ้ง (ภาษาอังกฤษ : Roller Tray) ไว้ใช้กับลูกกลิ้งทาสี

      6. กาพ่นสี (ภาษาอังกฤษ : Spray Gun) ใช้พ่นสีงานละเอียด เข้าถึงทุกซอกมุมต่างๆ และมีกาใส่สีในตัว ใช้งานได้อย่างสะดวก อิสระ

      7. แปรงทาสี (ภาษาอังกฤษ : Brushes) เอาไว้ทาสีพื้นที่เฉพาะจุดที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ หรือทาสีบนสิ่งของต่างๆ เช่น ตู้ โต๊ะ หรือขอบประตูและหน้าต่าง เป็นต้น

      8. ยาแนวซิลิโคนใส (ภาษาอังกฤษ : Silicone Sealant / Silicone Caulk) สำหรับทาปิดร่องขอบประตูหน้าต่าง เพื่อให้สีกลมกลืนและไปด้วยกันทั้งหมด

      9. เทปตาข่ายไฟเบอร์ (ภาษาอังกฤษ : Fiber Mesh Tape) เอาไว้ใช้ปิดรูหรือจุดที่ไม่สวยงามก่อนลงสี ทำให้พื้นผิวเรียบเสมอกัน

      10. บันได (ภาษาอังกฤษ : Ladder) ไว้ปีนขึ้นไปทาสีจุดสูงๆ ที่ลูกกลิ้งเข้าถึงยาก

เครื่องมือช่างงานสี (Painting Working Tools)


หมวดที่ 10 เครื่องมือช่างงานเกษตรและสวน (Garden and Agriculture Working Tools)

      1. ขวาน (ภาษาอังกฤษ : Axe) ไว้จาม ผ่า ตัด ไม้และท่อนไม้ต่างๆ

      2. เลื่อยมือตัดไม้ (ภาษาอังกฤษ : Saw) ใช้ตัดไม้ขนาดกลางๆ ให้มีความสวยงามมากกว่าการใช้ขวาน 

      3. เลื่อยโซ่ (ภาษาอังกฤษ : Chainsaw) สำหรับตัดต้นไม้หรือท่อนซุงขนาดใหญ่

      4. กรรไกรตัดกิ่ง (ภาษาอังกฤษ : Pruning Shears) ไว้ตัดกิ่งไม้ที่สูงไม่มากนัก และกิ่งไม่ใหญ่มาก

      5. เครื่องตัดกิ่งไม้สูง (ภาษาอังกฤษ : Palm Cutter) สำหรับตัดกิ่งไม้สูงๆ ที่อาจเป็นอันตราย แต่ปีนขึ้นไปตัดลำบาก ส่วนมากคนทำสวนปาล์มจะใช้กัน

      6. กรรไกรตัดหญ้า หรือ เครื่องตัดหญ้า (ภาษาอังกฤษ : Grass Shears or Mover) ใช้ตัดหญ้าและวัชพืชต่างๆ มีหลายแบบให้เลือก

      7. เครื่องเป่าลม (ภาษาอังกฤษ : Blower) ใช้เป่าใบไม้แห้งสำหรับใบไม้ที่ทับถมเยอะ ช่วยรักษาสภาพพื้นได้ดีกว่าการใช้คราด และทำงานได้เร็วกว่าการใช้ไม้กวาด

      8. เครื่องพ่นยา (ภาษาอังกฤษ : Sprayer) ใช้พ่นยา พ่นปุ๋ย หรือรถน้ำ มีหลายรูปแบบให้เลือกตามปริมาณงาน

      9. เครื่องเจาะดิน (ภาษาอังกฤษ : Earth Auger) ใช้เจาะดินเพื่อลงเสารั้ว เสาโรงเรือน เสาไฟ หรือหลุมลงต้นไม้ต้นกล้า 

      10. ปั๊มน้ำ หรือ เครื่องสูบน้ำ (ภาษาอังกฤษ : Water Pump) โดยทั่วไปนิยมใช้ปั๊มแช่หรือปั๊มบาดาลเพื่อสูบน้ำมาใช้ แล้วใช้ปั๊มหอยโข่งช่วยส่งน้ำอีกที

เครื่องมือช่างงานเกษตรและสวน


            ดู >>> เครื่องมือช่าง <<< เพิ่มเติม