ตัวเลข สัญลักษณ์ และการตั้งค่าบน สว่านไร้สาย Bosch

ตัวเลขและสัญลักษณ์บน สว่านไร้สาย Bosch

ทำไมเราถึงต้องเปลี่ยนมาใช้สว่านไร้สายอย่างนั้นเหรอครับ? หากจะให้ผมตอบ ก็คงจะเป็นเรื่องของความคล่องตัวในการใช้งาน การที่เครื่องมือไร้สาย ตอนทำงาน ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสายตึง สายพันกัน หรือแม้แต่ตัวเราเองที่เดินไปสะดุดสาย และเกิดอุบัติเหตุตามมา อีกอย่างนึงคือ ไม่ต้องพกปลั๊กพ่วงตอนไปทำงานข้องนอกแล้วครับ แค่แบตเตอรี่สำรองสักก้อนก็เพียงพอแล้ว

และถ้าคุณคือคนที่เปลี่ยนหรือกำลังจะเปลี่ยนจากสว่านไฟฟ้ามาใช้สว่านไร้สาย คุณจะเห็นชัดเลยว่า ทั้งสองเครื่องมือมีความแตกต่างดันอย่างชัดเจน และไม่ใช่แค่เรื่องการมีกับไม่มีสายเท่านั้น บนสว่านไร้สาย จะมีสัญลักษณ์และตัวเลขต่างๆ มากมาย อยู่บนหัวสว่าน และบางที สวิทช์ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ก็จะมีเลข ‘1’ กับ ‘2’ อยู่ด้วย แล้วทั้งหมดนี้ มันคืออะไรล่ะ?

ดังนั้น ในบทความนี้ ผมจะมาอธิบายว่า สัญลักษณ์และตัวเลขต่างๆ ที่อยู่บน สว่านไร้สาย Bosch นั้น หมายถึงอะไรบ้าง และควรตั้งค่าเพื่อใช้งานยังไง โดยใช้ สว่านกระแทกไร้สาย รุ่น 18V-50 เป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม สว่านไร้สายส่วนใหญ่มีพื้นฐานการทำงานที่เหมือนหรือคล้ายกัน เนื้อหาในบทความนี้จึงครอบคลุมถึงสว่านไร้สายจากผู้ผลิตอื่นด้วย หากคุณไม่ได้เป็นเจ้าของ สว่านไร้สาย Bosch คุณมั่นใจได้เลยว่า คุณจะไม่เสียเวลากับบทความนี้อย่างแน่นอนครับ แต่ว่า ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ผมมีสองเรื่อง ที่อยากจะพูดถึงก่อน นั่นก็คือ เรื่อง แรงบิด (Torque) และ ชุดเกียร์ (GearBox) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่คุณควรรู้ก่อนใช้งานสว่านไร้สาย


แรงบิด คืออะไร?

เมื่อคุณให้สว่านไร้สายทำงาน แรงที่ใช้ในการเจาะหรือขันนั้น จะถูกเรียกว่า แรงบิด โดยแรงบิดก็คือแรงที่ทำให้ดอกสว่านหรือดอกไขควงหมุนนั่นเอง คุณอาจลองนึกถึง เวลาที่คุณเปิด-ปิดก็อกน้ำก็ได้ครับ คุณจะเห็นว่ามีแรงสองแรงที่เท่ากันจากมือของเรากระทำกับก็อกน้ำในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งแรงนี้แหล่ะครับที่ทำให้เกิดการหมุนขึ้น และในสว่านไร้สายก็คล้ายๆ กัน

เมื่อแรงสองแรงที่เท่ากันกระทำกันในทิศทางตรงกันข้าม หากไม่ได้อยู่บนเส้นตรงแต่เป็นรอบๆ จุดหมุน แรงนี้จะถูกเรียกว่า แรงคู่ครับ อาจต้องรื้อฟื้นวิชาฟิสิกส์สมันมัธยมเสียหน่อย แต่ผมเชื่อว่า มันไม่ยากเกินไปสำหรับคุณครับ ถ้าแรงที่กระทำคือ F มีหน่วยเป็น นิวตัน (N) และระยะทางระหว่างจุดหมุนกับแรงที่กระทำคือ d มีหน่วยเป็น เมตร (m) แรงบิด ก็คือ ผลคูณของ F กับ d ครับ (Torque = Fd ) และเป็นเหตุผลด้วยว่าทำไม หน่วยของแรงบิดจึงเป็น Nm

ทีนี้คุณพอจะสังเกตุเห็นอะไรมั้ยครับว่า แรงบิดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงที่กระทำ (F) และระยะทาง (d) ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าแรงที่กระทำมากขึ้น แรงบิดก็จะมากตาม หรือถ้าระยะทางมากขึ้น แรงบิดก็จะมากขึ้นเช่นกัน ให้นึกภาพ ประแจที่คุณมีดูครับ ยิ่งด้ามจับของประแจยาวมากเท่าไหร่ แรงบิดที่ทำได้ก็จะมากขึ้นเท่านั้น 

มาถึงตรงนี้ คุณอาจจะสงสัยว่า ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของสว่านไรสายยังไง ให้คุณจำสูตร Torque = Fd ไว้นะครับ เพราะจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของ ชุดเกียร์ ที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้


ชุดเกียร์ คืออะไร?

หากพูดคำว่า ‘เกียร์’ ผมเชื่อว่า หลายๆ คนคงนึกถึง รถมอเตอร์ไซต์ หรือ รถยนต์ เป็นสิ่งแรกๆ และเข้าใจดีว่า เช่น ถ้าออกตัวหรือขึ้นเขาให้ใช้เกียร์ต่ำ หรือถ้าทางเรียบให้ใช้เกียร์สูง แต่เคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? 

โดยพื้นฐานแล้ว ชุดเกียร์ จะมีหน้าที่ปรับความเร็วและแรงบิด ประกอบด้วยฟังเฟืองสองตัว ขนาดเล็กกับขนาดใหญ่ โดยฟันเฟืองหนึ่งจะทำหน้าที่หมุนอีกฟันเฟืองหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ชุดเกียร์จะประกอบด้วยฟันเฟืองมากกว่าสองตัว ซึ่งใน สว่านไร้สายก็เช่นกัน แต่เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมจะขอใช้ฟันเฟืองแค่สองตัวนะครับ

สำหรับสว่านไร้สาย หากคุณต้องการให้แรงบิดให้สูงขึ้น คุณจะต้องปรับให้เกียร์ของเครื่องมือลงมาที่ระดับหนึ่ง หรือก็คือ ให้หมุนช้าลงนั่นเอง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ ฟันเฟืองเล็กจะทำหน้าที่หมุนฟันเฟืองใหญ่ ฟันเฟืองใหญ่มีระยะทางจากจุดหมุน (d) ที่มากกว่า จึงทำให้ผลคูณของแรงบิดนั้นมากตาม (Torque = Fd) แต่ในขณะเดียวกัน ความเร็วในการหมุนของฟันเฟืองใหญ่จะช้ากว่าฟังเฟืองเล็ก จึงส่งผลให้ความเร็วโดยรวมของเครื่องมือลดลงมาครับ 

แต่หากคุณปรับเกียร์ของสว่านไร้สายมาที่ระดับสอง ฟันเฟืองใหญ่จะทำหน้าที่หมุนฟันเฟืองเล็กแทน เครื่องมือจะหมุนเร็วขึ้น แต่แรงบิดที่ได้จะลดลง ตามค่า d ของฟันเฟืองเล็ก


การตั้งค่า สว่านไร้สาย Bosch

1. การตั้งค่าคลัตช์ - การหมุนปรับแรงบิด

มาเริ่มกันที่การตั้งค่าแรกกันครับ ที่บริเวณด้านบนของหัวสว่าน จะมีตัวเลขให้คุณหมุนปรับอยู่ โดยตัวเลขเหล่านี้จะหมายถึง แรงบิดที่คลัตช์จะทำให้สว่านหยุดหมุนครับ

ในสว่านไร้สาย มอเตอร์จะทำหน้าที่หมุนหัวสว่านหรือส่วนใดๆ ของสว่านที่ยึดดอกสว่านและดอกไขควงเอาไว้ โดยระหว่างมอเตอและหัวสว่านจะมีกลไกที่ทำให้เกิดการหมุนและหยุดการหมุนที่เรียกว่า คลัตช์ (Clutch) อยู่ครับ ในกรณีที่ดอกสว่านหรือสกรูไม่สามารถหมุนหรือขันต่อไปได้ คลัตช์จะตัดการทำงานของมอเตอร์ออกจากตัวสว่านทัน แม้ว่ามอเตอร์จะยังคงหมุนอยู่ก็ตาม ดังนั้นการหมุนปรับแรงบิด คุณจะสามารถเลือกได้ว่าจะให้คลัตช์ตัดการทำงานที่แรงบิดเท่าใด


คุณควรตั้งค่าคลัตช์เมื่อไหร่?

อย่างที่ได้พูดไปครับว่า ตัวเลข 1, 2, 3 หรือ เลขใดๆ ที่อยู่บริเวณด้านบนของหัวสว่าน คือ แรงบิดสูงสุดของคลัตช์ คลัตช์จะหยุดการหมุนของหัวสว่านเมื่อมอเตอร์พยายามหมุนด้วยแรงบิดที่มากกว่าแรงบิดที่คุณได้เลือกไว้ ซึ่งจะเป็นประโชนย์อย่างมาก โดยเฉพาะงานขัน เพราะปกติแล้ว คงไม่มีใครอยากให้หัวสกรูจมลงไปในพื้นผิววัสดุ เช่น ไม้เนื้อแข็ง อย่างแน่นอน

แต่ในการใช้งานจริงใน คุณอาจในการลองผิดลองถูกเสียหน่อย เพราะเราไม่รู้หรอกว่า จะต้องปรับแรงบิดไปที่เท่าไหร่จึงจะพอดี ผมแนะให้คุณใช้สูตร 1/3 ครับ ยกตัวอย่าง เช่น หากแรงบิดของสว่านไร้สายของคุณสูงสุดที่ 15 ให้คุณปรับไปที่ 5 ก่อนครับ หากคลัตช์ตัดการทำงานแต่สกรูยังขันไม่เสร็จ ให้คุณปรับไปที่ 10 และ 15 ตามลำดับ นอกจากนี้ หากคุณใช้สว่านไร้สายกับดอกสว่านขนาดเล็ก พยายามปรับแรงบิดต่ำๆ ไว้ครับ เพราะมีโอกาศที่ดอกสว่านจะแตกหักได้ 


2. การปรับเกียร์

การตัังค่าต่อมาคือการตั้งค่าเกียร์ ปกติแล้ว สว่านไร้สายมีสองระดับให้ปรับคือ ระดับ 1 เกียร์ต่ำ และ 2 เกียร์สูง ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ก็ตามที่ผมได้ให้คุณไปก่อนหน้านี้ครับ โดยสรุปแล้ว ถ้าคุณใช้งานที่เกียร์ต่ำ เครื่องมือก็จะมีแรงบิดที่มากพอให้คุณใช้งานกับดอกสว่านใหญ่ๆ ได้ แต่ถ้าคุณใช้เกียร์สูง แม้แรงบิดที่ได้จะต่ำลง แต่คุณจะใช้เครื่องมือกับดอกสว่านเล็กๆ และทำงานอย่างรวดเร็วได้


3. การปรับโหมด: สกรู เจาะ หรือ กระแทก

การตั้งค่าส่วนที่สามคือการปรับโหมด ในสว่านไร้สายปกติจะให้มาสองโหมดคือ โหมดเจาะ และ โหมดขัน แต่ในสว่านกระแทกไร้สายจะให้ โหมดกระแทก สำหรับงานคอนกรีตมาด้วย โดยคุณสามารถหมุนปรับได้ที่บริเวณด้านบนของหัวสว่านเช่นกัน

• สัญลักษณ์สกรู: สำหรับงานขัน คลัตช์จะตัดการทำงานตามแรงบิดที่ตั้งค่าไว้ ตามที่อธิบายไปก่อนหน้านี้

• สัญลักษณ์สว่าน: คลัตช์จะไม่ตัดการทำงาน (การตั้งค่าแรงบิดไม่มีผล)

• สัญลักษณ์ค้อน: สำหรับงานเจาะคอนกรีต โดยใช้ดอกสว่านทังสเตนคาร์ไบด์

คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ในการใช้งานนะครับ ในงานเจาะนั้น คุณไม่จำเป็นต้องปรับให้เป็นโหมดเจาะเสมอไป คุณสามารถใช้โหมดสกรูในงานเจาะได้ และอาจจะดีกว่าในบางกรณี เพราะ คุณสามารถตั้งค่าแรงบิดเพื่อให้เครื่องมือตัดการทำงานโดยคลัตช์ได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สว่านแตกหัก หากคุณใช้กับดอกสว่านขนาดเล็ก


4. การปรับทิศทางของหัวสว่าน

เดินหน้า: สำหรับงานขันและงานเจาะ

ถอยหลัง: สำหรับการถอนสกรู หรือกรณีที่ดอกสว่านติดอยู่กับวัสดุ

อยู่กับที่: หยุดการหมุนของสว่านไร้สาย กรณีที่ปุ่มสว่านจมและไม่สามารถหยุดการหมุนได้ และป้องกันอุบัติเหตุจากการกดปุ่มสว่านโดยไม่ได้ตั้งใจ

นอกจากนี้ หลังจากที่คุณไม่ได้ใช้งานสว่านไร้สายแล้ว อย่าลืมถอดแบตเตอรี่ออกจากตัวเครื่องด้วยนะครับ


สว่านไร้สายแรงบิดสูงๆ มีความจำเป็นมากแค่ไหน?

คำตอบขึ้นอยู่กับงานของผู้ใช้งานแต่ละคน ถ้าคุณใช้สว่านไร้สายกับดอกสว่านขนาดเล็กกับไม้ พลาสติก หรือเหล็ก รุ่นที่มีแรงบิดกลางๆ ก็เพียงพอแล้วครับ แต่ถ้าคุณใช้งานกับดอกสว่านหรือสกรูขนาดใหญ่ ในขณะที่กำลังเจาะ จะเกิดแรงเสียดทานระหว่างดอกสว่านกับวัสดุ กรณีนี้ สว่านไร้สายแรงบิดสูงๆ จะเหมาะมากกว่าครับ


ไขควงกระแทกไร้สาย กับสว่านไร้สาย เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร?

อันที่จริงจะมองว่าเป็นเครื่องมือคนละประเภทกันเลยก็ได้ครับ ไขควงกระแทกไร้สายจะให้แรงบิดที่มากกว่าสว่าน/ไขควงไร้สายทั่วไป เนื่องจากมีกลไกภายในที่ทำให้เกิดแรงแตกต่างกัน โดยหลักๆ จะใช้แรงการกระแทกในการทำงานขันหรืองานเจาะ ตัวเครื่องจะไม่มีหัวสว่านและใช้กับดอกสว่านประเภทเจาะแทก

     → สว่านไร้สาย Bosch GSR GSB GDR และ GDX นั้นแตกต่างกันอย่างไร


ก่อนจบบทความ หากคุณลองเข้าไปอ่านสเปคสว่านไร้สาย อาจจะเป็น สว่านไร้สาย Bosch ที่ผมใช้เป็นตัวอย่างในบทความนี้ก็ได้ครับ คุณจะเห็นว่า ผู้ผลิตจะให้แรงบิดมา 3 ค่า ดังนี้

• แรงบิดเบา: แรงบิดที่เครื่องมือทำได้เมือใช้งานกับวัดุที่ไม่แข็งมาก เช่น ไม้

• แรงบิดหนัก: แรงบิดที่เครื่องมือทำได้เมื่อใช้วานวัสดุที่มีความแข็ง เช่น เหล็ก

• แรงบิดสูงสุด: แรงบิดสูงสุดของเครื่องมือ