REVIEW สว่านกระเเทกไร้สาย 4 รุ่นเริ่มต้น คุณภาพจากแบรนด์ดังระดับโลก

Customers Also Purchased

สว่านกระเเทกไร้สาย 4 รุ่นเริ่มต้น คุณภาพจากแบรนด์ดังระดับโลก

ที่จะทำให้งานช่างเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกบ้าน…..

สว่านไร้สายในปัจจุบัน ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการก่อสร้างสมัยใหม่ หรือ เป็นเครื่องมือประจำบ้านสำหรับการเจาะยึดเจาะสิ่งของบนผนัง เนื่องจากความง่ายและความรวดเร็วในการทำงาน โดยไม่ต้องเสียงปลั๊กสว่านและลากสายไฟอีกต่อไป ทำให้การทำงานบนที่สูง หรือไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นไปได้ง่าย ในอดีตสว่านไร้สายมีราคาที่แพงมาก เนื่องจากต้นทุนของเทคโนโลยีแบตเตอรี่และอุปกรณ์ต่างๆมีราคาสูง แต่ในปัจจุบันบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเครื่องมือช่าง ก็เริ่มผลิตสว่านหลากหลายรุ่นที่ราคาถูกลง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยทำราคาได้ไม่แพงมาก และมีคุณภาพที่ใช้งานได้ดี

โดยสว่านที่เราเลือกมาทดสอบและรีวิวในวันนี้ ถือเป็นสว่านรุ่นเริ่มต้น ราคาประมาณ 2,500 – 3,700บาท โดยมียี่ห้อ Makita, DeWalt, Milwaukee และ BOSCH ซึ่งถือว่าเป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียงทั้งหมด โดยจะทำการทดสอบการเจาะธรรมดาโดยการเจาะ ไม้ เหล็ก และทำการทดสอบการเจาะในโหมดกระแทก โดยการเจาะปูน รวมถึงวัดปริณการจ่ายไฟ ของแบตเตอรี่ ระยะเวลาการเจาะ และระยะเวลาการใช้งาน โดยเริ่มจากคุณสมบัติคร่าวๆของแต่ละรุ่นดังนี้


1.BOSCH GSR120 สว่านรุ่นเริ่มต้นจาก Bosch

                                 "สว่าน BOSCH GSB 120 เป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ เกี่ยวกับการผลิตสินค้าเครื่องมือช่าง ที่มีความคงทนและเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่เสมอ สว่านไร้สายรุ่น GSB 120 เป็นสว่านรุ่นเริ่มต้น ในไลน์การผลิตสว่านไร้สายจากทาง BOSCH ซึ่งมีราคาไม่แพงมาก แต่มาพร้อมกับฟังชันการใช้งานที่ครบคัน รวมถึงอุปกรณ์มาตรฐานที่แถมมาให้ เช่นแบตเตอรี่ 2 ก้อน ที่ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถสลับแบตเตอรี่เพื่อชาร์จได้ เมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด รวมถึงเคสพาสติก ที่ทำให้การพกพา เป็นไปอย่างสะดวกและง่ายต่อการจัดเก็บ ไฟ LED ส่องชิ้นงาน ที่ทำให้การทำงานในที่มืด สะดวกยิ่งขึ้น"


     2.DeWALT DCD700 สว่านรุ่นเริ่มต้นจาก DeWALT

                               "DeWALT รุ่น DCD 700 เป็นสว่านรุ่นเริ่มต้นจากทาง DeWALT ซึ่งมีราคาถูกที่สุดเทียบกับสว่านทั้ง 4 ยี่ห้อ แต่คุณภาพก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสว่านตัวอื่นๆ เนื่องจาก ความเบาของสว่านและความเล็ก ตอบโจทย์ในด้านการทำงาน ที่ต้องการความรวดเร็ว ความเบา หรืองานที่ไม่ได้ใช้ในปริมาณงานที่เยอะมาก ด้วยราคาที่ไม่แพงทำให้สว่านตัวนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสว่าน เพื่อใช้งานเล็กๆน้อยๆภายในบ้าน หรือช่างอิเล็กทรอนิกส์ ที่เอาไว้ใช้ถอดประกอบสกรูทำให้ประหยัดระยะเวลาการทำงาน"


3.MILWAUKEE M12BPD-0 (battery optional) สว่านรุ่นเริ่มต้นจาก MILWAUKEE

                                            "Milwaukee M12 BPD 0 หลายๆคนอาจจะไม่คุ้นเคยชื่อสินค้าจากยี่ห้อ Milwaukee สักเท่าไหร่ Milwaukee เป็นยี่ห้อสัญชาติอเมริกาที่มีชื่อเสียงมาก และพึ่งนำเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นาน สว่าน Milwaukee M12 BPD 0 เป็นสว่านที่มีราคาสูงเนื่องจากราคาของสว่าน ไม่ได้ขายรวมกับแบตเตอรี่เป็น ลูกค้าต้องซื้อแบตเตอรี่และชุดชาร์จเพิ่มเติม เมื่อเทียบกับรุ่นทั้งสี่ราคาที่สูงนั้น มาพร้อมกับฟังชันการใช้งาน ที่เพิ่มขึ้นมาจากยี่ห้ออื่นมาก ตัวอย่างเช่น ไฟแสดงสถานะของแบตเตอรี่ ที่จะบอกถึงความจุของแบตเตอรี่ที่เหลือจากการใช้งาน ทำให้เห็นล่วงหน้าว่าแบตเตอรี่เหลืออยู่เท่าไหร่ แตกต่างจากยี่ห้ออื่นที่ไม่มีไฟแสดงสถาณะแบตเตอรี่ นอกจากนี้ Milwaukee M12 BPD 0 ยังมี Keyless หรือตัวจับดอกแบบเร็ว ที่ทำจากโลหะทั้งหมด ในขณะที่ยี่ห้ออื่นจะหุ้มด้วยยาง สว่าน Milwaukee M12 BPD 0 เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป หรือมืออาชีพ ที่ต้องการความสะดวกสบายในการทำงาน การบำรุงรักษาที่ง่าย ทนทานในการทำงานหนัก รวมถึงความรู้สึกในการใช้งานที่ดุดัน"


4.MAKITA HP331DWYE สว่านรุ่นเริ่มต้นจาก makita

                                          "Makita HP331DWYW แน่นอนว่ายี่ห้อ Makita ที่มีชื่อเสียงในไทยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากคุณภาพและความคงทนในสินค้าทุกรุ่นอย่างสม่ำเสมอ Makita HP331DWYW คือสว่านไร้สายรุ่นเริ่มต้น ในไลน์การผลิตสว่านไร้สายของ Makita แต่คุณภาพไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ารุ่นสูงๆ สว่าน Makita HP331DWYW เป็นสว่านที่ให้อุปกรณ์มาอย่างครบครัน รวมถึงราคาที่ไม่ได้สูงมาก จุดเด่นของสว่านรุ่นนี้ แบตเตอรี่ ที่สามารถนำไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ ที่ใช้แบตเตอรี่รุ่นเดียวกันกับ Makita HP331DWYW เหมาะมากสำหรับผู้ใช้ที่มีเครื่องมือไร้สายของ Makita ทำให้ประหยัดค่าชุดชาร์จและแบตเตอรี่ เนื่องจากลูกค้าซื้อแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จเพียงแค่ครั้งเดียว สว่านนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ระดับมืออาชีพ ที่ใช้งานผลิตภัณฑ์อื่นๆของ Makita อยู่แล้ว และผู้ใช้งานทั่วไป สำหรับการใช้งานในบ้านที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงในการใช้งานและมีแผนในการซื้อเครื่องมือไร้สายอื่นๆเพิ่มเติม"


ทดสอบประสิทธิภาพของแบตเตอรี่

                              "ระยะเวลาการในการชาร์จแบตเตอรี่ทั้งสี่รุ่น อาจจะไม่มีผลมากสำหรับผู้ใช้งาน ที่ใช้งานในปริมาณงานที่ไม่มาก แต่สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นช่างที่ต้องทำงานต่อเนื่อง การทำงานของแบตเตอรี่ต้องมีการสลับแบตเตอรี่เพื่อชาร์จใหม่อยู่เสมอ ระยะเวลาการชาร์จที่สั้น ทำให้ไม่ต้องซื้อแบตเตอรี่สำรองเพิ่มเติมจำนวนมาก ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง แต่การทดสอบนี้ไม่ได้หมายความว่าแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาชาร์จนานจะเป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ดี เนื่องจากบางครั้งแบตเตอรี่ที่ชาร์จเร็ว ก็อาจจะแบตหมดเร็วเช่นกัน ผลการทดสอบระยะเวลาการชาร์จที่เร็วที่สุดคือ Milwaukee M12 BPD 0 ซึ่งสามารถทำเวลาการชาร์จจากแบตเตอรี่หมด จนถึงเต็มในเวลาแค่ 40 นาที และอันดับต่อมาคือ Makita HP331DWYW ซึ่งต่างจากอันดับหนึ่งแค่ 10 นาที รวมเวลาชาร์จทั้งสิ้นคือ 50 นาที อันดับที่สามคือ DeWALT รุ่น DCD 700 ซึ่งใช้เวลาชาร์จทั้งสิ้น 60 นาที มากกว่าอันดับสอง 10 นาที และอันดับสุดท้ายคือ BOSCH GSB 120 ที่ใช้เวลาทั้งสิ้น 94 นาที จากการทดสอบในทฤษฎีถือว่า Milwaukee M12 BPD 0 ทำระยะเวลาการชาร์จได้ดีที่สุด เนื่องจากขนาดความจุของแบตเตอรี่ ที่มีถึง 2 Ah. แต่ก็ยังสามารถชาร์จได้เร็วกว่าทุกยี่ห้อ แต่ถึงอย่างไร ก็ต้องเปรียบเทียบกับระยะเวลาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง"

                             "การทดสอบความอึดของแบตเตอรี่ครั้งนี้ คือการทดสอบกดสว่านค้างไว้ จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด เพื่อทดสอบความอึดของแบตเตอรี่ ว่าสว่านตัวไหนใช้งานได้นานที่สุด ผลทดสอบปรากฏว่า สว่านที่ใช้งานได้นานที่สุดเป็นของ Milwaukee M12 BPD 0 ที่ทำงานได้ถึง 1 ชั่วโมง 27 นาที โดยอันดับถัดมาคือ Makita HP331DWYW ที่สามารถใช้งานได้ 39 นาที 29 วินาที ซึ่งแตกต่างจากอันดับที่หนึ่งเกือบ 1 ชั่วโมง ส่วนอันดับที่สามคือ BOSCH GSB 120 ที่ทำงานได้ 34 นาที 52 วินาที ซึ่งเป็นเวลาที่ต่างจาก Makita ไม่มากนัก อันดับสุดท้ายคือ DeWALT รุ่น DCD 700 ที่ใช้งานได้แค่ 3 นาที 16 วินาที"

                             "จากการทำสอบของแบตเตอรี่ทำให้พบว่า แบตเตอรี่ที่ดีที่สุด คือแบตเตอรี่ของสว่านยี่ห้อ Milwaukee เนื่องจากระยะเวลาการชาร์จที่เร็วที่สุดและระยะเวลาการใช้งานได้ยาวนานที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่น ส่วนอันดับถัดมา คือแบตเตอรี่ของสว่าน Makita ที่ใช้เวลาชาร์จเป็นอันดับสองและยังสามารถใช้งานได้นานเป็นอันดับสองเช่นกัน และอันดับที่สามคือ BOSCH ที่ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาชาร์จนานที่สุด แต่ยังสามารถใช้งานนานต่างจาก Makita ไม่มาก และอันดับสุดท้ายคือ DeWALT ที่ใช้เวลาการชาร์จได้เร็วกว่า BOSCH แต่เมื่อเทียบกับระยะเวลาการใช้งาน ที่ถือว่าสั้นมาก โดยห่างจาก BOSCH ถึงครึ่งชั่วโมง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ การทดสอบนี้ไม่ได้แปลว่าสว่านตัวใดตัวหนึ่งไม่ดี แต่ขึ้นอยู่กับประเภทของการใช้งาน ราคา และประสิทธิภาพในการใช้งาน"


ทดสอบประสิทธิภาพในการเจาะ

         "การทดสอบนี้ คือการทดสอบความสามารถในการเจาะปูน ซึ่งจริงๆแล้วสว่านเหล่านี้ ไม่ได้มีไว้สำหรับการเจาะปูนโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นสว่านสำหรับใช้งานทั่วไป ที่มีโหมดกระแทกเพิ่มเติมในบางรุ่นเท่านั้น โดยจากผลการทดสอบจะเห็นได้ว่าระยะเวลาการเจาะที่เร็วที่สุด ยังใช้เวลาถึง 43 นาทีกว่าจะเจาะทะลุ หากเปรียบเทียบกับสว่านโรตารี่ที่ใช้สำหรับงานเจาะปูนโดยเฉพาะ อาจใช้เวลาแค่ไม่ถึงสิบวินาที แต่การทดสอบนี้ก็เพื่อว่าจะได้ทราบถึงประสิทธิภาพ ว่าสามารถทำงานหนักๆได้หรือไม่"

        "จากผลการทดสอบประสิทธิภาพการเจาะปูน อันดับหนึ่งคือ Makita HP331DWYW ที่เวลาไป 42 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ต่างจากอันดับสองแค่หนึ่งวินาทีคือ Milwaukee M12 BPD 0 ที่ใช้เวลาเจาะไปทั้งสิ้น 43 วินาที และอันดับถัดมาคือ BOSCH GSB 120 ที่ใช้เวลาเจาะไปถึง 1 นาที 3 วินาที โดยผลการทดสอบนี้ ไม่ได้มีการทดสอบสว่าน DeWALT เนื่องจากไม่มีระบบกระเทก จึงคิดว่าไม่สามารถเจาะแท่งปูนได้หรืออาจจะใช้ระยะเวลานานมาก ซึ่งความรู้สึกในการเจาะของสว่านทั้ง3รุ่น ค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก โดยก่อนทำการทดสอบคาดการณ์ว่า การเจาะแท่งปูนแบบนี้ไม่น่าจะมีสว่านตัวไหนเจาะได้ เนื่องจากปูนมีความหนา แต่เมื่อทำการทดสอบสว่านตัวแรกซึ่งก็คือ Makita กลับรู้สึกแรงกระแทกเข้าไปในเนื้อปูน รวมถึงเริ่มเห็นเศษปูนที่คลายออกมา โดยสว่าน Makita คือว่าให้ความรู้สึกที่ดีในการเจาะ หลังจากนั้นจึงทดสอบกับ Milwaukee ซึ่งเมื่อเจาะลงไปในเนื้อปูน Milwaukee ให้ความรู้สึกมีพลังในการกระแทกเยอะกว่ามาก โดยความรู้สึกในการเจาะรู้สึกถึง กลไกบางอย่างที่กระแทกตัวดอกสว่านให้เข้าไปในเนื้อปูน แต่ผลลัพธ์ของสว่าน Milwaukee กับ Makita ก็ถือว่าต่างกันไม่มาก ส่วน BOSCH ให้ความรู้สึกนุ่มกว่าในการเจาะแต่ก็มีบางจังหวะ ที่ดอกฟรีเล็กน้อยระหว่างการเจาะ ทำให้เสียเวลาในส่วนนี้ไป แต่อย่างไรก็แล้วแต่สว่านทั้งสามก็สามารถเจาะทะลุได้โดยไม่มีปัญหา"

                             "จากการทดสอบประสิทธิภาพในการเจาะไม้ โดยการเจาะไม้10รูแล้วจับเวลา จากผลทดสอบปรากฏว่า สว่านที่สามารถเจาะได้เร็วอันดับหนึ่งคือ Milwaukee M12 BPD 0 ซึ่งใช้เวลาไปทั้งหมด 20 วินาที และอันดับที่สองคือ Makita HP331DWYW ซึ่งช้ากว่าเพียงแค่สามวินาที ส่วนอันดับที่สามคือ DeWALT  DCD 700 ซึ่งใช้เวลาไป 24 วินาที ใกล้เคียงกับตัว Makita ไม่มากนัก และอันดับสุดท้ายคือ BOSCH GSB 120 ที่ทำเวลาไปทั้งสิ้น 39 นาที ซึ่งปัญหาที่พบหลักๆของ BOSCH คือการจับดอกสว่านที่ไม่แน่นมานัก เมื่อเจาะเข้าไปในเนื้อไม้ที่มีความหนาตัวดอกสว่านจะฟรีกับตัวจับดอก ทำให้ดอกสว่านไม่หมุนและค้างอยู่ในเนื้อไม้ เลยต้องดึงดอกสว่านขึ้นมาแล้วขันเข้าไปใหม่ให้แน่นกว่าเดิม แต่สุดท้ายก็ยังพบปัญหาตัวจับดอกฟรีอีกเหมือนเดิม และทำให้ใช้เวลานานมากว่าอันอื่นๆ"

                             "การทดสอบประสิทธิภาพการเจาะเหล็ก คือการเจาะเหล็กหนาขนาด 2 มิลลิเมตรให้ทะลุ ซึ่งการทดสอบนี้คือการทดสอบประสิทธิภาพที่ค่อนข้างจะเกินความสามารถของสว่านไร้สายขนาดเล็กแบบนี้ เนื่องจากการเจาะเหล็กหนาขนาดนี้ ส่วนใหญ่จะใช้สว่านแท่น หรือสว่านแท่นแม่เหล็กมากกว่า เนื่องจากต้องใช้ความมั่นคงและความเร็วที่สม่ำเสมอ ผลการทดสอบโดยส่วนใหญ่สามารถเจาะทะลุเนื้อเหล็กได้ โดยเป็นไปตามตารางข้างบน แต่ว่ามีบางส่วนที่เกิดปัญหาขึ้นเล็กน้อยเนื่องจาก เมื่อเจาะเหล็กเข้าไปถึงระยะหนึ่งตัวดอกจะติด ทำให้เกิดความล่าช้าในการดึงดอกออก ระยะเวลาบางตัวเลยมากกว่าปกติ ส่วนปัญหาใหญ่ๆที่พบก็คือ สว่าน BOSCH GSB 120 ที่มีอาการเหมือนตอนเจาะไม้ นั่นคือตัวดอกฟรีอยู่กับตัวจับดอก ทำให้ต้องขันดอกเข้าไปใหม่หลายรอบ และอีกตัวที่มีปัญหาคือ DeWALT DCD 700 เมื่อเจาะสว่านเข้าไปจุดหนึ่งพบว่ามีควันพุ่งออกมาจากตัวมอเตอร์ แต่พอหยุดแล้วลองเจาะอีกครั้งควันนั้นก็หายไป โดยหลังจากเจาะทะลุเรียบร้อยแล้วตัวสว่านก็ยังทำงานได้ปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยคาดว่าน่าจะเกิดจากความร้อนสะสมเมื่อรับโหลดหนักๆ"


บทสรุป

จากผลการทดสอบต่างๆข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าคาแรคเตอร์ของสว่านแต่ละตัว ต่างก็มีจุดดีหรือเสียแตกต่างกันไป โดยจะสรุปแยกทั้งข้อดดีข้อเสียของสว่านทั้ง 4 ตัว แยกเป็นข้อดังนี้

Milwaukee M12 BPD-0 ถือว่าเป็นสว่านที่แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพสูงมาก ด้วยระยะเวลาการชาร์จที่สั้น แต่ยังมีระยะเวลาการใช้งานที่ยาวกว่ายี่ห้ออื่น รวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีระบบบอกปริมาณแบตเตอรี่, Keylessที่ทำจากโลหะ และ ผลทดสอบที่ทำได้ดีมาก โดยรวมๆแล้วถือเป็นสว่านที่ดีมากตัวหนึ่ง แต่ก็มีข้อเสียคือ ราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อรวมแบตเตอรี่และแท่นชาร์จ และน้ำหนัก ที่ค่อนข้างหนักกว่ายี่ห้ออื่น

BOSCH GSB 120 สำหรับขอดีของสว่านรุ่นนี้คือ การจับที่ถนัดมือมาก รักษาบาลาน์ได้อย่างดี  รวมถึงขนาดที่เล็กและสั้นกว่ายี่ห้ออื่น ทำให้เข้าถึงพื้นที่แคบได้ง่าย ถึงแม้ว่าผลการทดสอบทั้งแบตเตอรี่ และการทดสอบประสิทธิภาพ จะออกมาไม่ดีมากโดยอยู่ในระดับกลางๆเกือบทุกการทดสอบ แต่เทียบกับความคุ้มราคาเนื่องจากแถมอุปกรณ์ที่ให้มาครบทั้งแบตเตอรี่สองก้อน, แท่นชาร์จ และกล่องใส่สว่าน แต่มีเพียงข้อเสียข้อเดียว คือระบบการจับดอกหรือ Keyless ที่ไม่สามารถจับดอกขนาดใหญ่มากได้หรือเจาะชิ้นงานที่ต้องใช้แรงบิดสูง เนื่องจากตัวจับดอสว่านหรือ keyless จับดอกสว่านได้ไม่แน่นพอ ทำให้การเจาะต้องใช้เวลาพอสมควร

Makita HP331DWYW คือหนึ่งในสว่านที่ดีมาก ด้วยผลทดสอบแบตเตอรี่และการเจาะที่มีประสิทธิภาพมาก ด้วยราคาที่ถูกเนื่องจากรวมอุปกรณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสายชาร์จหรือแท่นชาร์จ เคสใส่สว่าน รวมถึงตัวแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานกับเครื่องมืออื่นๆของทาง Makita ได้อีกมากมาย ทำให้สว่านตัวนี้เป็นตัวที่คุ้มค้ามาก

DeWALT DCD 700 ข้อดีคือเป็นสว่านที่ราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ประสิทธิภาพการเจาะที่ทำได้ดีประมาณหนึ่ง และขนาดที่ไม่ได้ใหญ่มาก การรับประกันที่มีระยะเวลานาน รวมถึงความนุ่มเมื่อเริ่มกดเจาะสว่าน ทำให้งานไม้เมื่อใช้กับดอกที่คม เรียนเนียนขึ้น ส่วนข้อเสียที่เป็นปัญหาหลักคือแบตเตอรี่ ที่ระยะเวลาที่สั้นมากใช้งานได้ไม่นาน และเรื่องควันที่พุ่งขึ้นมาหลังจากการเจาะเหล็ก

รวมๆแล้วสว่านทั้งสี่รุ่น ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ทั้งเรื่องราคา, ฟังก์ชั้น, ขนาด หรือการใช้งาน โดยรวมคิดว่าการเลือกสว่าน ควรเลือกให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ เนื่องจากบางคนอาจจะต้องการสว่านที่เล็กสำหรับใช้งานที่แคบ หรือสว่านที่ไม่หนักเมื่อใช้เป็นเวลานาน ซึ่งการทดสอบข้างต้น เป็นเพียงการทดสอบคร่าวๆให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน อาจมีความผิดพลาดจากผู้ทดสอบ หรือความผิดพลากจากความคมของดอกสว่าน ไม้ หรือตัวแปรอื่นที่แตกต่างกัน สุดท้ายนี้หากผู้ใช้งานต้องการสว่านสักตัวหนึ่ง ผู้เขียนแนะนำให้ไปทดสอบทดลองที่ร้าน หรือศูนย์แสดงสินค้าใกล้บ้าน ว่าสว่านตัวไหนเหมาะสมสำหรับการใช้งานของเรา และหากจะซื้อสินค้านั้น ลองทำการเงื่อนไขการรับประกันของแต่ละร้าน ก่อนทำการซื้อสินค้านั้น